เปิดใจเจ้าของร้านชาบู ยอมโดนจับไม่ยอมปิดร้าน พ้อปล่อยทหารอียิปต์ติดโควิดทำวุ่น (คลิป)

15 ก.ค. 63

จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.63 ศบค.รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 3 รายใหม่ โดย 1 ใน 3 ราย เป็นทหารอียิปต์ อายุ 43 ปี มีไทม์ไลน์ลงสนามบินอู่ตะเภา พักโรงแรมระยอง ซึ่งไม่กักตัว ซ้ำออกไปเดินห้าง ทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดระยองและนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปยังจุดเสี่ยง เกิดความหวาดกลัว และวิตกกังวล

นอกจากนี้ยังทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดระยองหยุดชะงัก ลูกค้ายกเลิกการจองโรงแรมที่พักเกือบทั้งหมด ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการ ขณะที่รัฐบาลได้แต่ขอโทษและเสียใจ แต่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และมีประชาชนบางส่วนที่จะไม่ยินยอมให้กลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง เพราะช่วงเวลา 3 เดือนที่ล็อกดาวน์นั้น ทำให้พี่น้องประชาชนบางส่วนเป็นหนี้สิน ผู้ประกอบการบางรายทนพิษไม่ไหวต้องปิดกิจการ และผู้คนตกงาน

816682

ล่าสุดวันที่ 15 ก.ค.63 เพจเฟซบุ๊ก "โกดังชาบู" โพสต์ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊ก ด้วยข้อความว่า "ประกาศเนื่องด้วยสถานการณ์ ที่รัฐบาลนำพาให้เชื้อโควิด อาจจะระบาดรอบ 2 จนต้องเอา มาตราการสั่งปิดกลับมาอีก ทางร้านและทีมงานตอบให้ตรงนี้เลย ใครหน้าไหนมาสั่งปิดผมก็ไม่ฟัง ผมบอกเลย ทางร้านจะไม่มีการปิด เหมือนรอบแรก เพราะหนี้บาน ผมและครอบครัวพร้อมพนักงานต้องกินข้าว ปิดรอบนี้ก็ตายแน่นอน ไม่ช่วยเหลือ พวกเราภาคเอกชน ก็อย่ามาขวาง เห็นคนเจ๊งเพราะ พวกท่านมาเยอะละ ไม่ช่วยสักบาท เศษเงินที่ให้มา 5,000 บาทต่อเดือน เงินภาษีกู ไม่ใช่เงินมึง" โดยร้านโกดังชาบู ตั้งอยู่บริเวณ ถนนวุฒากาศ แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

893765

ทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ได้พูดคุยกับนายพายุหะ ลลิตพงค์พาณิช อายุ 36 ปี เจ้าของร้านโกดังชาบู เปิดเผยว่า หลังจากที่ทราบข่าว ตนเห็นใจชาวจังหวัดระยอง ที่ต้องหยุดกิจการอีกแล้ว ตนเข้าใจ เพราะตนเจอมากลับตัว มีคำสั่งปิดแบบไม่ทันตั้งตัว แล้วหากเปิดกิจการอีกครั้งจะหาเงินทุนมาจากไหน ก่อนหน้านี้รัฐบาลยังไม่ได้ช่วยเหลืออะไร ครั้งนี้ยังจะหาเรื่องใส่ตัวอีก เพราะตอนนี้การค้าขายซบเซา มีผลกระทบในวงกว้าง ตนอึดอัดจึงได้โพสต์ระบายออกไป และหากจะปิดกรุงเทพฯ อีกครั้งตนก็ไม่ไหว ตนยืนยันขอไม่ปิดร้านตามคำสั่งของรัฐบาล หากจะมาจับก็เชิญ เพราะตลอดที่ผ่านมาตนให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล ทางรัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดร้านก็ปิด เพราะเห็นว่าทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่หากจะมีคำสั่งมาปิดแบบนี้ตนก็ไม่โอเค ต้องเห็นใจคนอดมื้อกินมื้อ

ก่อนหน้าที่จะเกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตนได้รายได้ประมาณเดือนละแสนบาท หากจ่ายค่าหนี้อื่น ๆ จะเหลือกำไรเดือนละหมื่นบาท แต่พอมาเปิดร้านขณะนี้มีรายได้ตกเดือนละ 9,000 บาท ปกติแล้วตนมีรายจ่าย ค่าบ้าน 8,000 บาท , ค่าไฟ 21,000 บาท (ขณะนี้ยังไม่ได้จ่าย) , ค่าน้ำ 2,000 บาท , ค่ารถยนต์ 13,600 บาท , ค่ารถมอเตอร์ไซค์ 1,500 บาท , ค่าเช่าที่เปิดร้าน 8,000 บาท , ค่าจ้างพนักงานจำนวน 6 คน รวมจ่ายวันละ 3,500 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของลูกสาว 2 คน 10,000 บาท

560099

โดยก่อนหน้านี้ลูกค้าจะเต็มทุกโต๊ะต้องมีการจอง แต่ทุกวันนี้ลูกค้าเกือบไม่มี แต่ก็ยังทำให้ตนลืมตาอ้าปากได้บ้าง บางวันที่ตนดูเฟซบุ๊กตามเพจคนขายของจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าบางรายได้ทยอยนำของออกมาขายต่อ และเซ้งธุรกิจ ตนเห็นใจ เพราะคิดว่าสักวันหนึ่งหากธุรกิจของตนไปไม่ไหว ตนก็ต้องยอมรับและปิดกิจการไป อย่างไรก็ตามตนก็ไม่คิดที่จะฆ่าตัวตาย เพราะเนื่องจากยังคิดถึงลูกถึงเมียและคนที่อยู่ข้างหลัง

ทั้งนี้ยอมรับว่าตนและภรรยาก็ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากทางรัฐบาล แต่ก็ต้องนำเงินจำนวนเหล่านั้นมาหมุนเวียนภายในครอบครัวและภายในร้านชาบูของตน ตนขอถามกลับบ้าง เงินที่ตนได้รับก็คืนเงินภาษีของตัวเอง และทุกวันนี้ตนต้องนอนอยู่ที่ร้าน เพราะกลัวว่าจะมีเจ้าหน้าที่ออกมาตัดไฟ ตนยังค้างค่าชำระไฟฟ้าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ทางนายพยุหะ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลูกสาวคนเล็ก ซึ่งตามเกณฑ์แล้วจะต้องเข้าอนุบาล 1 แต่ไม่มีปัญญาที่จะหาเงินค่าเทอมให้ลูกไปเรียนได้ ต้องให้ลูกหยุดเรียนก่อน

advertisement

ข่าวยอดนิยม