"อนุชา" ปาดทุกเลน ขึ้นนั่งเก้าอี้โทรโข่งป้ายแดงรัฐบาล เผยภารกิจแรก นำสารจากรัฐบาลมาสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้เข้าใจโดยง่าย ศัพย์เทคนิค-ทางการ พักก่อน! พร้อมโชว์วิสัยทัศน์รับมือการเมืองยุค เด็ก-เยาวชน แห่ชู 3 นิ้ว กระทุ้งการทำงานรัฐบาล
ทำความรู้จัก "อนุชา บูรพชัยศรี" โฆษกรัฐบาลคนใหม่ ผู้ปาดหน้าเค้กตัวเก็งเต็งหนึ่งอย่าง นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และเต็งสองอย่าง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.
สำหรับ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลป้ายแดงวัย 53 ปี มีชื่อเสียงจากการเป็นนักธุรกิจด้านธุรกิจเครื่องจักรกลหนักที่ใช้ในงานก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี และเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร 2 สมัย คือปี 2550 และ 2554 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามนโยบายรัฐบาล คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารกลุ่มรัฐสภาไทยในสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก รองโฆษกด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
โดยในช่วงเช้าวันที่ 19 ส.ค. 63 นายอนุชา บูรพชัยศรี เอาฤกษ์เอาชัยหลังเข้ารับตำแหน่งและทำงานเป็นวันแรกด้วยการเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล จากนั้นตอบคำถามสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า
เป้าหมายแรกหลังรับตำแหน่งก็คือ เรื่องของ "เนื้อหา" โดยจะทำให้ข้อมูลข่าวสารที่จะส่งไปถึงพี่น้องประชาชนรับรู้ได้ง่ายขึ้น นั่นคือโจทย์ที่เราจะต้องสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมั่นในมาตรการที่ออกมา โดยเน้นในเรื่องการสื่อสารที่ง่ายต่อความเข้าใจไปยังภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อมาตรการที่นายกฯ และรัฐบาลออกมาตรการมา วิธีการทำงานจะเน้นระบบทีมเวิร์คไม่มีแบ่งแยกพรรคแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำนอกเหนือจากการสื่อสารแล้ว คือต้องรับฟังมาก ๆ ตนคิดว่ามีความจำเป็น เพราะการที่มาเป็นโฆษกรัฐบาลไม่ใช่เพื่อที่จะมาแถลงข่าวอย่างเดียวในสิ่งที่เขาอยากได้ยินได้ฟัง ตนคิดว่ามีส่วนสำคัญที่จะเข้าไปรับฟังเยาวชนว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร
สิ่งต่างๆ ที่เรามีในอดีตไม่ว่าจะเป็นช่องทางการสื่อสารอะไรต่างๆ พวกเขาต้องสามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจว่าพวกเขาคิดอย่างไรอยู่ แล้วก็มานำเสนอให้กับทางรัฐบาลว่ามาตรการหรือนโยบายที่จะออกมาในอนาคต ควรจะต้องสอดคล้องกับ "คิดเห็น" แต่ทั้งหมดก็ต้องนำมาประมวลไม่ใช่ว่าคนหนึ่งอยากได้อย่างหนึ่ง อีกคนอยากได้อีกอย่าง ก็จะเป็นการกระทบกระทั่งกันก่อเกิดเป็นความขัดแย้งซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นายกฯ ท่านต้องการหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว
Advertisement