จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพตส์คลิปวิดีโอ เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่จุดเกิดเหตุ บริเวณแยกด่านทับช้าง พร้อมอธิบายว่า ให้ดูจนจบแล้วตามหาความจริง โดยระบุว่า บุคคลที่อยู่ในคลิป ที่สวมใส่ชุดขาวนั้นเป็นพยาบาลจริงหรือไม่ แต่ที่ทราบคือไม่ได้เป็นพยาบาล และไปบอกคนอื่นว่า เรียนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ความจริงแล้วเรียนอยู่ กศน.สะพานสูง
พร้อมอธิบายอีกว่า หลังจากที่ดูคลิป และพิจารณาว่าได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุผิดวิธี ทั้งการบีบลูกยางแดง ปัดแอมบลูฯ ผิดตามลักษณะ และรูปแบบของการปฏิบัติ ดังนั้นจึงอยากโพสต์คลิปนี้ เพื่อบอกต่อกับสังคม ให้ช่วยการพิจารณาว่า ควรหรือไม่ กับ 1 ชีวิตที่ฝากไว้ในมือของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ
วันนี้ (30 ม.ค.) ทีมข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ได้พบกับ น้องนัท (นามสมมติ) ผู้โพสต์คลิป น้องนัท เล่าว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค.- ธ.ค. 60 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าคนในคลิป เคยวิ่งอาสาร่วมกู้ภัยหลายจุด และอ้างตัวเองว่าเป็นพยาบาลวิชาชีพ
ขณะเดียวกัน น้องนัทเปิดเผยว่า แฟนตนเองเป็นพยาบาล ไม่เชื่อว่าหญิงสาวในคลิปจะเป็นพยาบาลจริง เพราะขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วยกัน เคยได้วานให้หยิบเครื่องมือ แต่คนในคลิปกลับหยิบเครื่องมือผิดประเภท คาดว่าคงไม่มีความรู้ในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ จึงตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอด จนกระทั่งทราบจากเจ้าตัวว่า ไม่ได้เป็นพยาบาล แต่เป็น "ผู้ช่วยพยาบาล"
ส่วนสาเหตุที่ตนได้โพสต์คลิปนี้ เพื่อต้องการจะบอกกับสังคมว่า กรณีการไปแอบอ้างกับมูลนิธิกู้ภัย ว่าตนเองเป็นพยาบาล และขอติดรถไปปฏิบัติงานไปช่วยเหลือคนเจ็บนั้น ความจริงต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความรู้ ถึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง
กลุ่มอาสามัครหน่วยกู้ชีพร่มไทร ยังได้ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกันว่า คนในคลิปเคยปฏิบัติงาน และปฏิเสธการใช้เครื่องมือบางอย่าง ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการปั๊มชีพจร และการปั๊มไม่มีจังหวะ มีการหยุดพักหลายครั้ง ไม่เป็นไปตามหลักการช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยการปั้มชีพจรจะต้องไม่หยุดปั๊ม เพราะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง
นายติ่ง (นามสมมติ) ผู้ช่วยพยาบาล ที่มีโอกาสมาปฏิบัติหน้ากับอาสามัครกู้ชีพ ยอมรับว่า หลังจากได้ดูคลิปมีหลายจุด ที่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นไปตามแนวทางที่พยาบาลปฏิบัติกัน เช่นการบีบลูกยางแดงเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นการบีบเอาสารคัดหลั่ง ออกจากร่างกายด้วยการบีบออกมา แต่ในคลิปน่าจะนำไปเสียบในจมูกแล้วบีบ ซึ่งถือว่าผิดขั้นตอน
รวมถึงขั้นตอนขนาดการบล็อกศรีษะ ซึ่งคนในคลิป ได้สั่งให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บตะแคงหัว ซึ่งลักษณะดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผู้ได้รับบาดเจ็บ เช่นกระดูกต้นคอ และกระดูกหลัง ซึ่งเป็นจุดสำคัญ
นายติ่ง เล่าต่อว่า คนที่จะทำหน้าที่ลักษณะแบบนี้ได้ต้องมีใจเป็นจิตอาสา พร้อมช่วยเหลือบุคคลอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพราะทุกมูลนิธิมีลักษณะคล้ายกัน และการลงพื้นที่แต่ละครั้งจะมีรถพยาบาล และมีบุคคลที่ช่วยตัดสินใจในการเข้ามาช่วยเหลือคนเจ็บ
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายสงสัยว่า หญิงสาวที่อ้างตัวเป็นพยาบาลรายนี้ เข้าไปร่วมงานกับทีมกู้ภัยได้อย่างไร ในเรื่องนี้นายภู (นามสมมติ) อาสามัครกู้ภัยมูลนิธิร่มไทรสุวินทวงศ์ ได้เปิดเผยกับทีมข่าวว่า
ครั้งแรกที่หญิงสาวรายนี้เข้ามาร่วมงาน ได้สมัครผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิกู้ภัยร่มไทรสุวินทวงศ์ โดยบอกว่าอยากอาสามาช่วยเหลือ และเมื่อสมัครเข้ามาตามขั้นตอน ก็สามารถลงปฏิบัติงานในการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ แต่ช่วงหลังตนได้เห็นหญิงสาวรายนี้ ได้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่กับมูลนิธิอื่นแล้ว
อย่างไรก็ตามทีมข่าวได้ประสานไปยังหญิงสาวที่อยู่ในคลิป แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากได้มีการปิดเฟซบุ๊ก และปิดไลน์ไปแล้ว จากนั้นทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานกับหญิงสาวรายนี้ โดยเปิดเผยว่า หญิงสาวในคลิปเป็นนักเรียนพยาบาล แต่ยังเรียนไม่จบ และเรียนอยู่ที่ กศน.เขตสะพานสูง ในหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ 480 ชั่วโมง และชอบอาสาไปช่วยงานที่หน่วยกู้ชีพต่างๆ อยู่เป็นประจำ