เมื่อวันที่ 16 ก.ย.63 ที่บริเวณลานอนันตรังสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นักศึกษารวมตัวกันกว่า 200 คน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่เอาเผด็จการผ่าน #ราชมงคลจะไม่ทนเผด็จการ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองห้า และกำลังเจ้าหน้าที่ EOD เข้าติดตั้งจุดสแกนโลหะ พร้อมดูแลความเรียบร้อยอย่างใกล้ชิด
บรรยากาศมีแสดงดนตรีจากวงสามัญชน จากนั้นมีนักศึกษาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ต่อต้านเผด็จการและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เวลา 18.00 น. กลุ่มแกนนำได้พาผู้ที่เข้าร่วมการฟังปราศรัยร้องเพลงชาติไทย พร้อมกับชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว ประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 1.รัฐบาลต้องหยุดคุมคามประชาชน 2.รัฐบาลต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากประชาชน 3.รัฐบาลต้องยุบสภา ให้ประชาชนเลือกผู้แทนได้
นอกจากนี้ ขอสนับสนุนข้อเรียกร้อง 10 ข้อจากเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 พร้อมมีการตะโกนขับไล่เผด็จการ ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว และร่วมกันรณรงค์ติดแฮชแท็กในโซเชียลเน็ตเวิร์ก #ราชมงคลจะไม่ทนเผด็จการ
สำหรับการชุมนุมใหญ่ วันที่ 19 ก.ย. นี้ เจ้าหน้าที่มีการเตรียมความพร้อมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตท่าพระจันทร์ ที่มีการใช้พื้นที่ชุมนุมหลัก จะมีการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย รวมถึงท้องสนามหลวง พื้นที่ใกล้เคียงด้วย
สำหรับกำหนดการกลุ่มประชาชนปลดแอก นัดรวมตัวชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. 63 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงเย็นจะขยายพื้นที่ไปยังสนามหลวง ถ.ราชดำเนินกลาง สะพานผ่านพิภพลีลา ซึ่งจะมีกิจกรรมปราศรัย และแสดงศิลปะ ส่วนวันที่ 20 ก.ย. 63 ช่วงเช้าจะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ประกาศจะเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ย.นี้ ว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
มีมาตรการกำหนดไว้ว่า ห้ามผู้ชุมนุมเข้ามาชุมนุมปักหลักในสถานที่หรืออาคารสำคัญ
โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ กฎหมายระบุว่าห้ามเข้าใกล้ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบสถานที่ หากฝ่าฝืน ถือว่าผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทันที
โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงมาตรการรับมือการชุมนุมใหญ่ว่า เจ้าหน้าที่ได้เตรียมใช้แผนกรกฎ 52 เป็นแนวทางดูแลความสงบเรียบร้อยการชุมนุม ตำรวจจะพิจารณาจัดวางกำลังตามสัดส่วนของผู้ชุมนุม ส่วนตัวเลขผู้ชุมนุมยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัด
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการใช้ 3 พื้นที่ในการชุมนุม คือ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ล่าสุดมีการประกาศห้ามใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นอกจากนี้ หน่วยงานจัดกำลังควบคุมฝูงชนพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำกาย สนับสนุน บช.น. โดยมีบัญชีรายชื่อที่ใช้ยอดกำลังพลดังต่อไปนี้ ตชด. จำนวน 9 กองร้อย, ภ.1 จำนวน 10 กองร้อย, ภ.2 จำนวน 7 กองร้อย, ภ.3 จำนวน 6 กองร้อย, ภ.4 จำนวน 6 กองร้อย, ภ.5 จำนวน 1 กองร้อย, ภ.6 จำนวน 8 กองร้อย, ภ.7 จำนวน 8 กองร้อย, และ ภ.8 จำนวน 2 กองร้อย รวมทั้งหมด 57 กองร้อย กว่า 8,550 นาย
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนปลดแอกโคราช มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนผู้ร่วมอุดมการณ์ ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนเป็นท่อน้ำเลี้ยง เพื่อการเดินทางไปร่วมชุมนุมใหญ่
นายกฤติพงศ์ ปานสูงเนิน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขารัฐศาสตร์ แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอกโคราช เปิดเผยว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอกโคราชพร้อมแล้วที่จะเดินทางไปร่วมการชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้มีเยาวชนบางส่วนเดินทางไปก่อนแล้วล่วงหน้า เพื่ออาสาเป็นการ์ดให้กับการชุมนุม ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการรวบรวมกำลังพลกัน โดยขณะนี้มีเยาวชนแจ้งเข้ามาแล้วว่าจะร่วมเดินทางไปด้วยกว่า 200 คน และยังมีมาเพิ่มอีกต่อเนื่อง
โดยทางกลุ่มจะไม่มีการจัดเวทีคู่ขนานที่โคราช เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายตามมาภายหลัง ตอนนี้ก็ได้มีการวางแผนไว้แล้วว่าจะไม่เดินทางไปเป็นกลุ่ม เพราะเกรงว่าอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ตั้งด่านสกัดระหว่างทางได้ จะเดินทางแยกย้ายกันไปแบบดาวกระจาย และมีจุดหมายปลายทางพบกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ให้สำเร็จ พร้อมฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าอย่าได้ดูถูกพลังของเยาวชนเกินไป
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าทำเนียบรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลจะเข้าประจำการในทำเนียบรัฐบาลจำนวน 3 กองร้อย มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่มตามจุดสูงภายในทำเนียบรัฐบาลทุกตึก รวมทั้งได้นำรถเครื่องปั่นไฟสำรองจำนวน 3 คัน มาประจำการในทำเนียบรัฐบาล กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้ดูแลทั้งหมด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดชุมนุมว่า เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตนในฐานะเป็นคณะกรรมการติดตามการชุมนุมตั้งเเต่ครั้งที่เเล้ว จะติดตามในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม โดยการชุมนุมครั้งที่เเล้วก็ได้ส่งคณะกรรมการที่เป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่เป็นระยะ ซึ่งครั้งนี้หากมีโอกาสตนก็จะไป เเต่ถ้าหากติดภารกิจประชุมสภา ก็อาจจะไม่ได้ไป
"เรียกร้องให้รัฐบาลมองผู้ชุมนุมเป็นลูกเป็นหลาน อย่ายัดเยียดความเป็นคอมมิวนิสต์ให้กับผู้ชุมนุม เหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลา"
ซึ่งนายกฯ จะต้องรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนเงื่อนไขการชุมนุม หรือการดูเเลความเรียบร้อย ก็จะต้องสั่งหรือกำหนดแนวทางให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจตรงกัน "ความกังวลในขณะนี้ คือเเนวความคิดของรัฐบาล ที่คิดว่าผู้ชุมนุมคือฝ่ายตรงข้าม ผู้ชุมนุมมีผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้ชุมนุมคือผู้ก่อความวุ่นวาย เเต่ไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นสร้างปัญหามากเเค่ไหน ดังนั้นมีเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง ควรจะทบทวนว่าควรจะเดินไปในทิศทางไหน"
ด้านนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีการชุมนุมว่า การจัดการชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย แต่ขออย่าละเมิดกฎหมายหรือสิทธิของผู้อื่น
ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องการเเก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วันที่ 23-24 ก.ย. 63 สภาผู้เเทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือนักศึกษามาร่วมเเก้ไข แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณของสภาฯ ส่วนข้อเรียกร้องในเรื่องการยุบสภา ตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากสภา หากมีการยุบสภาตอนนี้ ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้
ส่วนดวงเมืองประเทศไทยหลังจากนี้ นายชนม์ทรรศน์ ฤทัยผ่อง หรือ ซินแสเข่ง หมอดูเข็มทิศทองคำและผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์พยากรณ์แห่งประเทศไทย ทำนายว่า ให้ระวังวิกฤตธรรมศาสตร์จะลุกเป็นไฟจากมือที่ 3 กระหน่ำบ้านเมือง เพราะดาวโจรโคจรทับดวงเมือง 19 ก.ย. ดาวมฤตยูดาวแห่งศัตรูสร้างความขัดแย้ง เพราะแรงยุแหย่ที่รัฐบาลจะต้องระวัง ปัญหาบ้านเมืองแตกแยกวุ่นวายสับสน ขัดแย้งเป็นศัตรู ที่เป็นเดือนแห่งการปะทะ จากดวงก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2477 ตกเหตุทรัพย์เสียเพราะเหตุเพลิงไหม้ และให้ระวังจะปิดตำนานธรรมศาสตร์ เพราะหาเหตุใส่ตัว
โดยดวงเมืองกับดวงก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเหตุรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบหนัก เมื่อคำนวณมูลเหตุของดวงดาวโคจรทับดวงเมืองให้ระวังจะเริ่มปะทะในวันที่ 19 ก.ย. และจะหนักสุดเข้าในวันที่ 21 ก.ย. เพราะตกดาวมฤตยูทับดวงเมือง ดาวโจรวิปริต อัธพาลตกดวงแห่งวิปโยคจากการปะทะรุนแรง หากไม่ยอมซึ่งกันและกันความหายนะจะเกิดขึ้นแน่นอน
จากสถานการณ์ของประเทศที่บีบคั้นนายกฯ มากขึ้นจนเป็นเหตุที่จะสร้างความรุนแรง นายกฯ จะต้องประคองตนให้ผ่าน เพราะกว่าสิ้นปี เหตุและปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชะตาของประเทศยิ่งแย่ตกมากขึ้น