เจ้าของบ้านปัดจัดฉากทุบรถ ฉะเล่นปาหี่ปิดแค่ 3 ตลาด - ผู้ค้าโอด หลังเดียว เดือดร้อนทั้งตลาด (คลิป)

23 ก.พ. 61
จากกรณี น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ และครอบครัว ใช้ขวานฟันรถกระบะที่จอดขวางหน้าบ้าน เนื่องจากมีปัญหากับตลาดที่ตั้งติดบ้าน ขยะส่งกลิ่นเหม็น มีทั้งควัน และเสียง ส่งผลให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาด 5 แห่ง พบว่าไม่มีการขออนุญาตเปิดเป็นตลาด ล่าสุดได้สั่งปิดตลาด 3 แห่งแล้ว ได้แก่ ตลาดสวนหลวงฯ ตลาดรุ่งวาณิช และตลาดร่มเหลือง ส่วนอีก 2 แห่งทั้ง ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต กับ ตลาดยิ่งนรา ห้ามขายของสด จนนำไปสู่ข้อสงสัยเรื่องการจัดฉาก แล้วพ่อค้าแม่ค้าจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ วันนี้ ( 22 ก.พ. 61) “รายการต่างคนต่างคิด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น. นางบังอร สุขมงคล แม่ค้าขายส้มตำ ตัวแทนผู้ค้าตลาดสวนหลวงฯ, นายประวิทย์ สมจิตร ชาวบ้านในพื้นที่ตลาดสวนหลวง, นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ เจ้าของบ้าน  มาพูดคุยในรายการ ภายใต้หัวข้อ “ชะตากรรมแม่ค้า ตลาดถูกปิด ฤทธิ์ขวานป้าพิฆาต”
นางบังอร สุขมงคล แม่ค้าขายส้มตำ ตัวแทนผู้ค้าตลาดสวนหลวง
นางบังอร สุขมงคล แม่ค้าขายส้มตำ ตัวแทนผู้ค้าตลาดสวนหลวง  กล่าวถึง กรณีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งปิดตลาดสวนหลวง ร.9 ว่า ร้านของตนไม่ได้อยูในเต็นท์ขายของสด ขายส้มตำไก่ย่าง และกับข้าวใส่บาตร อยู่ข้างฟุตปาธห่างจากตัวบ้าน ป้าบุญศรี ประมาณ 50 เมตร หลังเกิดเหตุพ่อค้าแม่ค้าหลาย ร้อยคน มาเจอปัญหาแบบนี้จึงตกที่นั่งลำบาก เพราะหาที่ขายของไม่ได้ ซึ่งทุกคนต่างมีภาระครอบครัว ขณะเดียวกัน นางบังอร ยอมรับว่า นั่งร้องไห้ทั้งวันเพราะเดือดร้อน และหาทางออกไม่ได้ โดยตนยึดอาชีพค้าขายที่ตลาดแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2530 นับแต่เปิดสวนหลวงฯ ตอนนั้นบริเวณดังกล่าวยังเป็นป่า แม้แต่บ้านที่เกิดเหตุยังไม่มี ที่ผ่านมา แม่ค้าอาจเสียงดังบ้าง แต่เก็บกวาดขยะให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ
นายประวิทย์ สมจิตร ชาวบ้านในพื้นที่ตลาดสวนหลวง
นายประวิทย์ สมจิตร ชาวบ้านในพื้นที่ตลาดสวนหลวง เปิดเผยว่า บ้านของตนเริ่มสร้างเมื่อปี 2554 ขณะที่ตลาด 1-2 ได้สร้างเสร็จแล้ว โดยตลาด 3 ยังไม่เปิด และตนได้ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อปี 2557 ส่วนตัวมองว่า สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะใช้พักผ่อนหย่อนใจของผู้สูงอายุ ตื่นตี 4 ตี 5 มาออกกำลัง แล้วแวะตลาดซื้อของกิน มีเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ดูแลอย่างดี โดยตนรู้ว่าตลาดดังกล่าวผิดกฎหมาย และส่วนใหญ่ตลาดใน 50 เขต เป็นแบบนี้ทั้งหมด
นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผช.เลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม.
นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า มีหน้าที่ดูแลให้ถูกสุขอนามัย ให้คำแนะนำ คอยให้ความรู้ จะเห็นว่าตลาดหลายแห่ง มีผ้ากันเปื้อน มีหมวก ของ กทม. แสดงให้เห็นว่าพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นผ่านการฝึกอบรม โดยสำนักงานเขตประเวศ มีมาตรการ 2 ส่วน คือ บังคับใช้กฎหมาย ในกรณีไม่ถูกกฎหมาย ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ส่งอัยการฟ้องสั่งปรับไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องผลกระทบให้ประชาชนอย่างควบคู่กัน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.
การที่ พล.ต.อ.อัศวิน ลงพื้นที่ไป เป็นการกำชับดูแลบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และพ่อค้าแม่ค้า เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยมีประเด็นเดียวคือ ที่ดินบริเวณนั้นสร้างตลาดได้หรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำสั่งศาลพิพากษา ซึ่งสำนักงานเขตประเวศ ได้ปิดตลาด 3 แห่ง ในวันที่ 28 ก.พ.61 เนื่องจาก พล.ต.อ.อัศวิน คำนึงถึงผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งบ้านของ น.ส.บุญศรี และพ่อค้าแม่ค้า จึงสั่งให้ปฎิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองอย่างเคร่งครัด คือ ดูแลไม่ให้มีผลกระทบเรื่องกลิ่น เสียง และความสะอาด
นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ ประชุมชี้แจง
ขณะเดียวกัน นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตประเวศ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างร่างแผนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของมาตรการดูแลพ่อค้าแม่ค้า วันจันทร์ที่ 26 ก.พ. 61 จะนัดประชุมผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 250-300 คน มาชี้แจงว่า มีตลาดใดถูกกฎหมาย พอจะรองรับพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ได้ เช่น ตลาดราชพฤกษ์ กับ ตลาดนัมเบอร์วัน  ซึ่งหากคุยกันแล้วพ่อค้าแม่ค้าไม่พอใจ ก็มาคุยกันว่าจะรวมตัวไปตั้งตลาดที่ใด จะเป็นตลาดเอกชนหรือไม่นั้น ทางเขตจะเจรจาให้เพื่อลดผลกระทบให้เร็วที่สุด
ตลาดสวนหลวง ร.9
สำหรับนิยามคำว่า "ตลาด" ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 นายณัฐนันท์ กล่าวว่า ต้องมีของสด หมู เนื้อ ผักสด จึงเรียกว่า เป็นตลาด โดยตลาดที่ 1 สวนหลวง หากประกอบกิจการตลาดต้องเข้าเงื่อนไข ซึ่งเคยขออนุญาตไว้แล้ว แต่ทางเขตไม่ออกให้ เพราะติดเงื่อนไขทั้ง ทางเข้า-ออก ขนาดยังไม่ได้ สาธารณสุขต่างๆ ทำให้พื้นที่ตลาดสวนหลวงยังสร้างไม่ได้ แต่หากยื่นขออนุญาตเข้ามาและปรับปรุงใหม่ให้ถูกต้องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ตลาดยิ่งนรา
โดย ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต กับ ตลาดยิ่งนรา ก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ สามารถขายอาหารได้ เช่น ทำร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านส้มตำ แต่ไม่สามารถขายของสด โดย “ตลาดยิ่งนรา” มีใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายอาหาร แต่ต้องสำรวจว่ามีการแอบขายของที่ไม่ถูกต้องจริงหรือไม่
ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต
ส่วน “ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต” มีสิทธิ์ขออนุญาตเป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร แต่ข้อมูลที่ได้รับ มีการจำหน่ายของสดด้วย หากจะปรับตัว ต้องยกเลิกจำหน่าย แล้วมาดูว่าเข้าเงื่อนไขสถานที่จำหน่ายอาหารหรือไม่
น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ เจ้าของบ้าน
น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ เจ้าของบ้านผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ประชาชนในหมู่บ้านเสรีวิลล่า มีคำถามว่า นี่เป็นการเล่นปาหี่ของหน่วยงานรัฐหรือไม่ ที่มีการปิดตลาด 3 แห่ง ส่วนอีก 2 ตลาด ให้ไปแก้ไขเพื่อที่จะเปิดตลาดได้อีก คนในหมู่บ้านพูดกันว่า “ทำแบบนี้ ก็เหมือนเดิม” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะบ้านที่ปลูกในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ทำตามข้อบัญญัติการจัดสรรที่ดินอย่างถูกต้อง ไม่มีการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ซึ่ง นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความของตน ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า กฤษฎีกาได้ตีความชัดเจนแล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยไม่สามารถเปิดเป็นตลาดได้ ส่วนผลกระทบทางฝ่ายพ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องการขายของต่อในพื้นที่นั้น น.ส.รัตนฉัตร กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานคร ได้เข้ามาดูแลผลกระทบให้แล้ว หากมีการอนุญาตให้เปิดตลาดอีกไม่ว่าจะตรงไหน ผู้ที่ออกใบอนุญาตเหล่านั้นคือผู้ทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ขออนุญาตในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นพ่อค้าแม่ค้าต้องย้ายออกไปอยู่ในที่เหมาะสม ซึ่งทาง กทม. ไม่ควรยืดเยื้อให้เรื่องบานปลาย ควรรีบจัดหาสถานที่ให้พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้น
หน้าบ้านของ น.ส.รัตนฉัตร
โดย น.ส.รัตนฉัตร กล่าวถึงเรื่องการจัดฉากเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาว่าแก้ไขว่า ตนไม่เคยรู้จักกับคนขับรถที่มาจอดหน้าบ้านมาก่อน และไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมาสร้างสถานการณ์ เท่าที่เห็นอาจมีผู้ไม่หวังดีจัดฉาก เพื่อผลประโยชน์อย่างอื่น ขณะนี้อาจจะเป็นการจัดฉากสักระยะหนึ่ง แล้วต่อไปก็กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งตนไม่อยากเชื่อ เพราะ 10 ปี มาแล้วที่บ้านตน ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย ถึงตอนนี้ตนจะสู้จนกว่าหมู่บ้านจะได้รับความสงบสุขคืนมา นายณัฐนันท์ มองว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นข้อกฎหมายอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการถกเถียงถึงที่ดินที่ตั้งตลาดแห่งนี้ สามารถจัดตั้งก่อสร้างอาคารเป็นตลาดได้หรือไม่? ซึ่งทาง คุณบุญศรี กับคณะ ได้ฟ้อง ผอ.เขตประเวศ และ ผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว ขณะนั้นทาง กทม. ยืนยันว่า สามารถสร้างได้ จึงอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาล แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเกิดเหตุ พล.ต.อ.อัศวิน ได้ลงพื้นที่ไปในทันที เมื่อเห็นว่า ตลาดสวนหลวงฯ ตลาดรุ่งวาณิช ตลาดร่มเหลือง ไม่ถูกกฎหมาย ก็มีคำสั่งให้ปิดทันที จึงไม่ใช่เป็นการเล่นละครว่า จะให้เหลือตลาด 2-3 แห่ง เพียงแต่ว่า ตลาดที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายอาหารแล้ว ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะทำอย่างไร
ข้อพิพาทกับกรุงเทพมหานคร
ด้านผลกระทบกับคนในหมู่บ้านนั้น นายประวิทย์ ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่ได้รับผลกระทบ และคนในหมู่บ้านจะได้รับผลกระทบเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเช้าเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีตลาดเลยก็ไม่ดี เพราะตัวเองอายุมากแล้ว ไปออกกำลังกายก็อยากซื้อของกินใกล้บ้าน ในเมื่อเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่แล้ว ก็ควรบังคับใช้กฎหมายให้มากที่สุด ตลาดไหนผิดก็หยุดขาย ตลาดไหนยังก้ำกึ่ง มีใบอนุญาตไม่ถูกก็ต้องไปปรับปรุงเสีย ไม่มีใครสามารถไปสั่งทุบตลาดได้ เพราะเรื่องยังคาอยู่ในศาล ตั้งแต่สมัย มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะที่ นางบังอร แม่ค้ากล่าวว่า เมื่อได้ฟังแบบนี้แล้วรู้สึกสบายใจขึ้น แต่ก็ยังคิดอยู่ว่ากลัวไม่มีที่ขาย เมื่อรู้ว่าตลาดผิดกฎหมายก็สมควรปิดให้ปรับปรุงใหม่ เมื่อมีใบอนุญาตพร้อมแล้ว พ่อค้าแม่ค้าบริเวณรอบนอกจะได้เข้าไปขายต่อได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ