สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เหลืออีกเพียง 5 เซนติเมตร ระดับน้ำแม่น้ำตาปีจะแตะจุดวิกฤติ ปภ.เตือนพื้นที่รับน้ำเฝ้าระวัง ส่วนที่ จ.ตรัง ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 2 อำเภอ เมือง-สิเกา
เมื่อเวลา 12:00 น. วันที่ 15 ต.ค. 63 ระบบโทรมาตรเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี วัดระดับน้ำในแม่น้ำตาปีได้ที่ 10.08 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับวิกฤติเพียง 5 เซนติเมตร และยังมีแนวโน้มเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่ริมคลองอิปันที่ไหลลงสู่แม่น้ำตาปี น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน เช่นที่ ต.ไทรโสภา และ ต.อิปัน รวมถึง ต.ไทรขึง ของ อ.พระแสง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย
- “เสนาลิง” โอดเสียหายนับล้าน! หลังน้ำท่วมรีสอร์ทหนักสุดในรอบ 10 ปี น้ำลดจ่อถมดินเพิ่ม
- นครบาลเตือนคนกรุงเลี่ยง 14 ถนนเสี่ยงน้ำท่วมขัง หากฝนตกหนัก
- รถเล็กหนีไป! ถนนมิตรภาพขาออกโคราช น้ำท่วมขังสูง
นายจำนงค์ สวัสดิ์วงศ์ ปภ.สุราษฎร์ฯ ได้ให้ "มิสเตอร์เตือนภัย" ในแต่ละพื้นที่ เข้าแจ้งเตือนประชาชนริมแม่น้ำตาปี ให้ติดตามสถานการณ์ ซึ่งจากการตรวจสอบระบบโทรมาตรเขื่อนรัชชประภา พบว่าแม้แม่น้ำตาปีจะใกล้ระดับวิกฤติ แต่จุดวัดระดับน้ำใน อ.เคียนซา ยังอยู่ในระดับต่ำสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนหนึ่ง หากฝนทิ้งช่วงจะทำให้มวลน้ำกระจายสู่ตอนล่างได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนพื้นรับน้ำต้องติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ อ.พระแสง น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ทำให้เกิดอุทกภัย จำนวน 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 65 ครัวเรือน 195 คน ไม่มีผู้บาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย ต.ไทรโสภา หมู่ที่ 3, 4, 5 น้ำท่วมถนนในหมู่บ้าน จำนวน 3 สาย ระดับน้ำสูงประมาณ 0.45-0.80 เมตร ราษฎรได้รับผลกระทบ 58 ครัวเรือน 165 คน ต.ไทรขึง หมู่ที่ 3 น้ำท่วมถนนในหมู่บ้าน จำนวน 1 สาย ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-0.80 เมตร ราษฎรได้รับผลกระทบ 7 ครัวเรือน 30 คน
ส่วนที่ จ.ตรัง สถานการณ์น้ำท่วม เบื้องต้นมีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จำนวน 8 อำเภอ 27 ตำบล 3 เทศบาล 3 ชุมชน 83 หมู่บ้านกว่า 1,000 ครัวเรือน นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเริ่มคลี่คลายฝนหยุดตกเป็นช่วง ๆ ระดับน้ำในภาพรวมเริ่มลดลงในหลาย ๆ อำเภอที่ได้รับผลกระทบ การป้องกันในช่วงเกิดเหตุตนก็ได้มีการฟังพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แล้วแจ้งเตือนไปยังทุกอำเภอให้อำเภอแจ้งไปยังท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเตือนพี่น้องประชาชน ส่วนตัวเน้นย้ำว่าการแจ้งเตือนประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะจุดที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ต้องให้ประชาชนเตรียมอพยพ ไปจุดที่ปลอดภัย ขณะนี้มี 2 อำเภอ ประกาศภัยพิบัติ อ.เมือง และ อ.สิเกา สามารถใช้เงินทดรองในการลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อำเภอละ 500,000 บาท ในเรื่องของการซื้อถุงยังชีพ แต่ตอนนี้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อยู่