ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แนะ 3 แนวทาง หากไปชุมนุมแล้วถูกตำรวจจับกุม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าในสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม “การระบุตัวตน” ของผู้ถูกจับกุมและ “สถานที่” ที่ถูกควบคุมตัวไว้สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากการจับกุมเกิดขึ้นพร้อมการสลายการชุมนุมที่เต็มไปด้วยความชุลมุน
จากการรับแจ้งเหตุของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีญาติและเพื่อนของผู้ชุมนุมจำนวนมาก ยังคงไม่ทราบว่าหลังไปชุมนุมแล้ว คนที่ตนรักและยังไม่ได้กลับบ้านกำลังถูกคุมตัวอยู่ที่ไหนหรือเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกทั้งหากระบุตัวตนของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไม่ได้ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายยังเป็นไปด้วยความยากลำบากอีกด้วย
ดังนั้น หากผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม สิ่งที่พึงทำนอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการระบุตัวตนให้เร็วที่สุดโดย
1. แจ้งญาติ เพื่อน หรือคนที่ไว้ใจให้ทราบ โดย ระบุชื่อ-สกุล สถานที่ที่ถูกจับ สถานที่ที่เจ้าหน้าที่จะนำไปควบคุมตัว
2. แจ้งทนายความ โดย ระบุชื่อ-สกุล สถานที่ที่ถูกจับ เบอร์โทรศัพท์ตนเองและญาติ สถานที่ที่เจ้าหน้าที่จะนำไปควบคุมตัว
3. พึงตระหนักว่าแม้ในช่วงเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ประชาชนยังมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้โทรศัพท์มือถือแก่เจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากเจ้าหน้าที่จะแสดงหมายศาลซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ