เมื่อวันที่ 25 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ตรัง ได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 114 ถนนหนองยวน ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง (เขตเทศบาลนครตรัง) ใกล้กับวัดมัชฌิมภูมิ หรือวัดหนองยวน ซึ่งเป็นบ้านของ ส.ต.อ.ชลิต ชนนเกรียงไกร หรือ หมู่ตั้ม อายุ 33 ปี ผบ.หมู่ (ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน) สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง หลังจากเกิดกระแสข่าวว่า ได้มีเห็นประหลาดคล้ายมือมนุษย์ ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ผุดขึ้นจากพื้นดิน
เจ้าของบ้านพร้อมด้วยครอบครัว ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูบริเวณพื้นดินหน้าบ้าน โดยจัดตกแต่งเป็นสวนหย่อม ซึ่งเป็นดินแดงมีทรายถมทับอยู่บนผิวดิน ชี้ให้ดูใต้ต้นพุดศุภโชค หรือพุดเงิน จากการตรวจสอบพบว่าเป็น เห็ดมือ เห็ดมือผี หรือเห็ดปลาหมึก มีลักษณะสีขาวคล้ายคนพนมมือ มียอดขึ้นมาจำนวน 7 ยอด สูงจากพื้นดิน 6 ซม. กว้าง 3 - 4 ซม. มีกลิ่นเหม็นเน่าเหมือนซากศพคละคลุ้ง และมีเมือกสีดำและเขียวอยู่ภายใน รวมทั้งมีแมลงวันตอม และมีชาวบ้านในละแวกดังกล่าวมาจุดธูปขอพร และต่างนำเลขที่บ้านคือ 114 ไปเสี่ยงโชค
ส.ต.อ.ชลิต เล่าว่า หลังจากที่กลับจากงานกินเจที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งใกล้บ้าน เวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 24 ต.ค.63 ตนก็กลับมาดูแลสวนหน้าบ้านเป็นปกติ แต่รู้สึกว่าภายในสวนได้กลิ่นเหม็นเน่าแปลก ๆ เมื่อไปดูพบว่ามีเห็ดงอกขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะคล้ายคนพนมมือ ตนจึงเรียกชาวบ้านในละแวกดังกล่าวมาดู จึงได้หาข้อมูลปรากฏว่าเป็นเห็ดมือผี หรือเห็ดปลาหมึก
ส.ต.อ.ชลิต เล่าอีกว่า เห็ดดังกล่าวเป็นเห็ดที่หายากและเชื่อว่าเป็นเห็ดที่ให้โชคลาภกับคนที่มาขอพร แต่โดยส่วนตัวทางครอบครัวชอบทำบุญ จึงมีความเชื่อส่วนบุคคลว่าน่าจะผุดมาอนุโมทนาบุญ ส่วนเรื่องโชคลาภ ตนก็ไม่มั่นใจ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ในช่วงเช้าของวันนี้ผู้คนที่ได้ทราบข่าวน่าจะแห่เดินทางมาดูจำนวนมาก
ทั้งนี้ข้อมูลจากแฟนเพจ “กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้” ภายใต้การดูแลของ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาให้ข้อมูลวิชาการว่า “เห็ดมือผี” ที่มีผู้คนแห่กันไปกราบไหว้ อยู่ในกลุ่ม “เห็ดเขาเหม็น” มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุ ในเมืองไทยพบเจอเห็ดในกลุ่มนี้บ่อยก็คือ เห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห ที่สำคัญบริเวณด้านบนของดอกเห็ด จะมีเมือกสีน้ำตาลหรือเขียวขี้ม้าหรือดำที่มีกลิ่นเหม็นมาก หรือคล้ายกับกลิ่นซากสัตว์
เห็ดเขาเหม็น (Stinkhorns) เป็นเห็ดที่มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุ (saprophytic mushrooms) ที่สามารถพบได้ตามพื้นดินที่มีฮิวมัส (humus) ทับถมและมีความชื้นสูง มีรายงานการพบได้บ่อยครั้ง ตามโคนต้นไม้ที่มีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมตามบ้านคนที่มีการดูแลต้นไม้ใส่ดินและปุ๋ยอินทรีย์อยู่เป็นประจำ จึงสามารถพบเห็ดกลุ่มนี้ได้