วันที่ 29 ต.ค. 63 กลุ่มประชาชนสวมเสื้อเหลืองนำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี รวมตัวกันที่วงเวียนใหญ่ บริเวณอนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เวลา 17.00 เพื่อแสดงจุดยืนปกป้องสถาบัน
เวลา 16.30 น. ประชาชนสวมเสื้อเหลืองทยอยเดินทางเข้ามาในพื้นที่ รวมกลุ่มกันบริเวณฝั่งถนนลาดหญ้า หรือ หน้าอนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากฯ
ขณะที่ผู้ชุมนุมมีการสลับกันปราศรัย บนรถคอกเหล็ก 4 ล้อที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง เนื้อหาการปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกลุ่มผู้ชุมนุมในประเด็นอ้างว่าได้สร้างความเข้าใจผิดให้กับกลุ่มนักศึกษาออกมาชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องไม่ให้นักศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นต้น
ทั้งนี้ การชุมนุมยังคงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ชุมนุมประกาศชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมหลังเคารพธงชาติ ในเวลา 18.00 น. ร่วมกันยืนตรงและร้องเพลงเคารพธงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีมหาราชา และมีการนัดหมายชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 31 ต.ค. 63 ที่สวนลุมพินี เวลา 16.30 น.
นางฐิติการ เอี่ยมสุขนันท์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ศูนย์บริการสารธารณะสุข บุคคโล เขตธนบุรี กทม. ผู้คัดกรองวัดอุณหภูมิ กันโรคโควิด-19 มาพร้อมกับอุปกรณ์ เครื่องวัดอุณหภูมิ, สติกเกอร์, เจลล้างมือ รวมถึงนำหน้ากากอนามัย 300 ชิ้นมาแจกให้กับประชาชน
นางฐิติการ ยืนยันว่า ตนมาด้วยใจ ในฐานะเป็นประธาน อสส. คิดว่ามาแล้วต้องสร้างประโยชน์ จึงเชิญชวนพี่น้อง อสม. มาร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะตอนนี้โควิด-19 ยังคงระบาด ยืนยันการกระทำครั้งนี้ร่วมลงทุนกันเอง แบบไม่มีใครสนับสนุนหรือจ้างมา และเดินทางด้วยรถสามล้อด้วยตัวเอง ส่วนจุดยืนของตัวเองนั่นก็ยังยืนยันว่ามาเพราะรักสถาบันฯ แบบไม่แบ่งสี ไม่แบ่งพรรคพวก แต่ตนเองอยู่ข้างสถาบันด้วยความรักและด้วยความที่เติบโตมาในแผ่นดินไทย จึงไม่อยากให้ใครมาแตะต้อง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี กทม. เดินทางมาร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง ขึ้นรถเครื่องขยายเพื่อประกาศแสดงจุดยืน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการรวมตัวมาจากหลายกลุ่ม ที่ไม่ได้มีใครรู้จักกันมาก่อน แต่ทุกคนต่างมีเจตนาเดียวกันคือการเป็นแนวร่วมซึ่งกันและกัน เพื่อปกป้องสถาบัน และสิ่งสำคัญคือตนเองจะย้ำผู้ชุมนุมตลอดว่าห้ามใช้ความรุนแรง
ทั้งนี้ ตนเองยังคงยืนกรานในการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งอาจจะทำให้กฎหมาย 10 กว่าฉบับถูกแก้ไขไปด้วยโดยเฉพาะในหมวดของสถาบัน แต่หากแก้บางมาตราก็อาจจะเห็นด้วย ยินดีหากรัฐบาลจะเชิญตนเข้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรถึง 3 ข้อ ซึ่งตนเองยังยืนยันไม่เห็นด้วยใน 2 ข้อหลังนั้น คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน ส่วนข้อแรกให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออก ตนเองให้พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจเอง ซึ่งยังไม่เคยพบหลักฐานใด ๆ ว่าพลเอกประยุทธ์ ทุจริตตามที่คณะราษฎรกล่าวอ้าง