นายชาญ ปัทมะวิภาค ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้านครหลวงในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล มุ่งเน้นการดำเนินงานด้วยระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม มีหน้าที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้มีการเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด มั่นใจช่วงหน้าร้อนระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง มีความพร้อมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฤดูร้อนของทุกปีพบว่า ประชาชนจะมีความต้องการการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในเขตพื้นที่การให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยข้อมูลสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของ กฟน. เกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 2559 ช่วงเวลา 13.30-14.00 น. เท่ากับ 9,296.57 เมกะวัตต์ สำหรับค่าพยากรณ์ความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดของปี 2560 อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม คาดว่ามีค่าความต้องการเท่ากับ 9,589 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาจำนวน 292 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 3.14 ยังอยู่ในค่าที่ กฟน. สามารถบริหารจัดการรองรับได้ ส่วนข้อมูลของปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ช่วงเวลา 14.00-14.30 น. เท่ากับ 8,942.96 เมกะวัตต์
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เปิดเผยอีกว่า จากกรณีการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก (แหล่งยาดานา) ที่ระบบผลิตไฟฟ้าต้องผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไปนั้น กฟน. พร้อมดำเนินการตามนโยบายภาครัฐและประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยได้เชิญผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการสมัครเข้าร่วมมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า หรือ Emergency Demand Response Program ปี 2560 เมื่อวันที่ 1-7 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ที่เข้าร่วมการใช้มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า รวม 44 ราย คาดว่า ในวันที่ 27 มีนาคม 2560 เวลา 9.00 - 12.00 น. มีกำลังไฟฟ้าสามารถลดได้ สูงสุด 97 เมกะวัตต์ พร้อมจัดทำระบบติดตามผลการดำเนินมาตรการ Emergency Demand Response Program (EDRP) และรายงานผลแบบออนไลน์สามารถเรียกดูข้อมูลได้โดยสะดวกได้ทางเว็บไซต์
ทั้งนี้ กฟน. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง มีการใช้เทคโนโลยีสำหรับควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) / EMS (Energy Management System) สำหรับการบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ กฟน. เริ่มใช้เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี รวมถึงมีการพัฒนานวัตกรรมด้านงานบริการ โดยนำระบบบริหารงานภาคสนาม FFM (Field Force Management) มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการ ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการงานแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการแจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องผ่านทาง MEA Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1130 หรือ MEA Smart Life Application จะมีการแจ้งเหตุดังกล่าวไปยังการไฟฟ้านครหลวงเขตที่รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้สะดวก รวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม กฟน. เพื่อประสิทธิภาพด้านอุปกรณ์จำหน่ายไฟฟ้าต่างๆ กฟน. ยังได้ดำเนินการตรวจสอบจุดต่อ ของสายไฟฟ้าในระบบจำหน่ายให้มั่นคงปลอดภัย เสริมความแข็งแรงของเสาไฟฟ้าบริเวณจุดเสี่ยงต่อพายุฤดูร้อน เช่น บริเวณที่โล่ง และร่องพายุ ขณะเดียวกันยังมีการตรวจสอบปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์จำหน่ายไฟฟ้า หม้อแปลง และสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงมีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดไฟตก หรือไฟดับอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเตรียมพร้อมรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นแล้ว ประชาชนยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น โดยการหมั่นดูแล บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอ ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน แนะนำใช้หลอดไฟ LED แทนการใช้หลอดแบบไส้ เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรปิดสวิตซ์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟฟ้ายังสามารถใช้ MEA Smart Life Application ในการแสดงประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน ซึ่งเป็นรูปแบบกราฟที่สะดวกต่อการใช้งาน ดูได้ง่ายไม่ซับซ้อน สามารถเปรียบเทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรืออาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการแจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด MEA Smart Life Application ได้แล้ววันนี้ ที่ App Store และ Google play โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหากประชาชนท่านใดมีข้อแนะนำหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่MEA Call Center โทร 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง