จากกรณีคลิปที่เป็นกระแสในโลกโซเชียลเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ชื่ออาชีญ บุญทูล ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ความยาว 2.33 นาที เป็นคลิปที่ถ่ายหญิงคนหนึ่ง ที่พยายามมาไล่ ไม่ให้เข้ามาขายของในพื้นที่ พยายามเรียกคนอื่น ๆ ให้มาดู และหญิงคนดังกล่าวมีการอ้างตัวว่าตนเองได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว
วันที่ 24 พ.ย. 63 ทีมข่าวลงพื้นที่ สอบถามผู้โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว ที่จอดรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างขายอยู่ริมถนน หน้าโรงพยาบาลฮันยี ซึ่งเป็นที่ค้าขายประจำ โดยมีภรรยา และน้องสาวภรรยาคอยช่วย
นายอาชัญ บุญทูล หรือ รัม อายุ 27 ปี ผู้โพสต์คลิป และเจ้าของร้าน โก๋รัมเต้าหู้ทอด เปิดเผยว่า ปกติตนเองจะขายอยู่บริเวณทางเท้าหน้าโรงพยาบาลยันฮีเป็นประจำ ขายมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่วันที่เกิดเหตุคือวันที่ 19 พ.ย. 63 เวลาประมาณ 08.00 น. เป็นวันหยุดชดเชย ซึ่งหน้าโรงพยาบาลยันฮีไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่าน ตนจึงขี่รถจักรยานยนต์ขายเต้าหู้ทอดพ่วงข้าง ไปขายที่ถนนสังคโลก ซอยข้างโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เนื่องจากตนเองเห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีคนพลุกพล่าน และมีร้านขายอาหารเยอะ เมื่อมีลูกค้าเรียกซื้อ ตนเองก็จอด และขายไปได้หลายคน
จนกระทั่งผ่านไปประมาณ 30 นาที มีหญิงคนที่ปรากฏในคลิปขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาไล่ พูดจาไม่ดี ทำนองว่า "กูไม่ให้ขาย ไปเลย" ตนเองจึงย้ายจากจุดแรก ไปจอดอีกจุดหนึ่ง ห่างจากจุดแรกประมาณ 300 เมตร หญิงคนดังกล่าวก็ยังตามมาไล่อีก ทั้งนี้ มีคนที่จ่ายเงินไว้แล้ว และบางคนก็ยืนรออยู่บริเวณใกล้เคียง ผู้หญิงคนดังกล่าวก็ยังมีการกันไม่ให้ลูกค้าคนอื่น ๆ มาซื้อด้วย จนหญิงคนดังกล่าวขอให้ตนเองเก็บกวาดเศษอาหารต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนที่จะกลับบ้านไป ตนเองมองว่าคนขายของด้วยกัน ก็บอกกันดี ๆ ก็ได้ อยากให้เห็นใจบ้าง
ตนเองตัดสินใจโพสต์คลิปไป เพื่อต้องการความเห็นใจ และเรียกร้องว่าทุกวันทำมาหากินลำบากมาก ๆ เมื่อโพสต์ออกไปก็ไม่คิดว่าจะเป็นกระแส
ขณะที่ซอยข้างโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ถนนสังคโลก เป็นซอยเดินรถทางเดียว ลึกประมาณ 800 เมตร มีร้านขายอาหารเต็มสองฝั่ง ประมาณ 100 กว่าร้าน มีทั้งร้านที่เป็นรถเข็น และร้านที่ตั้งโต๊ะขายเป็นประจำ ซึ่งร้านที่มีใบอนุญาต 40 ร้านค้า
นางปริศนา วิริยะธนิต หรือ เจ้อ้อม อายุ 56 ปี แม่ค้าขายข้าวแกงที่ปรากฏในคลิป เปิดเผยว่า วันที่เกิดเหตุตนเองไม่ได้เปิดร้าน แต่พี่สาวมาบอกว่ามีผู้ค้าหน้าใหม่มา ตนเองจึงขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในซอย พบผู้ค้าข้างนอกและซอยนี้ก็ไม่ให้ผู้ค้าหน้าใหม่มาขาย เขาก็บอกว่าเดี๋ยวไป แต่ผ่านไป 30 นาที ก็ยังไม่ยอมไป ตนเองจึงบอกว่าถ้าน้องมาขาย พวกพี่จะเดือดร้อน เพราะที่นี่เขาเพิ่งจะจัดระเบียบ ก็ต้องช่วยกันดูแล ชายคนดังกล่าวก็ทำหูซ้ายทะลุหูขวา และมีท่าทีกวนประสาท
ตนเองยืนยันว่าตนเองพูดดีตลอด ตนบอกว่าถ้าไม่ไป ให้หยุดการขาย จึงบอกพยาบาลที่ซื้อของว่าขอให้หยุดการขายสักครู่ ตนเองก็บอกชายคนกล่าวว่าทำเลอะเทอะ ให้ลงมาเก็บเศษอาหาร จากนั้นชายคนดังกล่าวก็ขับไปประตูอีกประตูหนึ่ง ตนเองก็ตามไป เพื่อที่จะขอให้ออกพื้นที่ ชายคนนั้นจึงหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายคลิป ตนเองก็ถ่ายเอาไว้ จนมีคนมาคอมเมนต์ด่าด้วยตอแ-ล
สำหรับการดูแพื้นที่ค้าขายบริเวณนี้ ทางสำนักงานเขตดุสิตมีการเรียกผู้ค้าทั้งหมดประชุม และเทศกิจให้แม่ค้าเลือกว่าจะให้ใครคอยช่วยกันดูแลพื้นที่ 3 คน ก็มีร้านอีก 2 ร้านและตนเองช่วยดูแลกันและจัดระเบียบกันเอง ไม่ให้ผู้ค้าหน้าใหม่ที่ไม่มีใบอนุญาตมาขาย
ตนเองอยากฝากบอกพวกนักเลงคีย์บอร์ดว่า "ทำไมไม่มาถามตนเอง ไปคอมเมนต์ว่าตนเองเสียหาย ทำไมจึงฟังความข้างเดียว และคนไทยหูเบาจริง ๆ มาถามแม่ค้าที่นี่ทุกคนเห็นหมด ไม่ใช่ด่ากันสนุกปาก ด่ากันเพลิน" สำหรับคนที่มาด่าก็ขอให้ใช้สมองคิดบ้าง ไม่ใช่แค่โจมตีแต่ตนฝ่ายเดียว
ด้านนางลำดวน ยิ้มเจริญ หรือ ป้าติ๋ม อายุ 64 ปี แม่ค้าในซอยเดียวกัน เปิดเผยว่า ตนเองขายของบริเวณนี้มามากกว่า 45 ปีแล้ว ตนเองเป็นเจ้าแรก ๆ ที่มีการขอร้องจากสำนักงานเขต ทางเทศกิจบอกว่าให้ผู้ค้าดูแลกันเอง โดยที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ค้าหน้าใหม่หรือใครที่เข้ามาในพื้นที่ เจ้อ้อมก็ชอบพูดจาไม่ดี และด่าทอทุกคนที่เข้ามาขายของเสมอ ตนเองก็เคยเตือนเจ้อ้อมว่าให้พูดจาให้ดีกว่านี้ ให้พูดกับเขาดี ๆ
โดยปกติพื้นที่บริเวณนี้ ร้านค้าที่มาขายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ปีละ 1,000 บาท เนื่องจากเป็นจุดผ่อนผันให้ขายได้ โดยเกือบทุกร้านจะขายทุกวัน และหยุดทุกวันหยุดราชการ
นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตดุสิต เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าว ทั้งทางเท้าและปากทางเข้า-ออก เป็นพื้นที่สาธารณะของ กทม. ต้องดูแลตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปี 2535 ห้ามค้าขายบนทางเท้า แต่มีจุดผ่อนพันที่สามารถให้ขายของบนทางเท้าได้ 38 จุด ยกเลิกไปแล้ว 19 จุด ยังไม่ยกเลิกอีก 19 จุด ซึ่งจุดที่มีปัญหาก็เป็นจุดผ่อนผันที่ยังไม่มีการยกเลิก
ทั้งนี้ เมื่อด้านผู้ค้าบอกว่าอยากค้าขาย เพราะเดือดร้อน สำนักงานเขตดุสิตจึงได้ชี้แจงว่าต้องการทางเท้าให้ประชาชนได้เดิน และต้องการให้ทางเท้าสะอาด ไม่สกปรก จึงให้ปฏิบัติตามระเบียบ มีใบอนุญาตประมาณ 40 ร้าน
โดยแม่ค้าคนดังกล่าวก็มีสิทธิ์ เพราะมีใบอนุญาตถูกต้อง และทุกวันจันทร์ ทาง กทม. จะไม่ให้ค้าขาย เพราะจะมีความผิด และชายคนดังกล่าวที่มาค้าขาย ก็ไม่มีทะเบียนที่ถูกต้องด้วย จึงถือว่าเขตกดดันให้ผู้ค้ารายเก่าบริเวณดังกล่าวเขาทำตามระเบียบ ต่อจากนี้จะมีการแก้ไขปัญหา คือให้เทศกิจเรียกประชุมผู้ค้าว่าต้องพูดจาดี ๆ กับผู้ค้าคนอื่น ๆ จะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาระยะยาว ยืนยันไม่ได้ว่ามอบหมายหรือมอบอำนาจให้ใครดูแล แค่พูดในที่ประชุมว่าแม่ค้าพ่อค้าต้องดูแลกันเองในจุดผ่อนผันเท่านั้น