ปลดล็อกใบ ก้าน ลำต้น ราก "กัญชา-กัญชง" พ้นยาเสพติด

25 พ.ย. 63

คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติ ปลดล็อกใบ ก้าน ลำต้น ราก "กัญชา-กัญชง" พ้นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เปิดทางประชาชนใช้ประโยชน์ ย้ำยังห้ามปลูกเองที่บ้าน ต้องขออนุญาต อย.ก่อน โดยจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐ หรือวิสาหกิจชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ

วันที่ 25 พ.ย. 63 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)แถลงข่าว หลังวานนี้ (24 พ.ย.) คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติปลดใบ ก้าน ลำต้น ราก กัญชาและกัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง ตามนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และส่งเสริมให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย

ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเทศ 5 พ.ศ…. ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ จะยังสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยในขั้นตอนต่อไป อย.จะเสนอร่างประกาศฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สาระสำคัญของร่างประกาศฯ ฉบับนี้ มีการกำหนดให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต หรือสกัดในประเทศไทย ไม่จำเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่น

1. เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
2. ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
3. สารสกัดที่มีสาร CBD เป็นส่วนประกอบ และมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2
4. เมล็ดกัญชง น้ำมันจากกัญชง หรือสารสกัดจากกัญชง

นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า การปลดล็อกส่วนของใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น และราก ไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะสามารถครอบครองได้ และการปลดล็อกครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกเองได้ที่บ้าน แต่ผู้ที่จะสามารถทำได้ต้องขออนุญาตจากอย. โดยจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับของหน่วยงานรัฐ ระบุวัตถุประสงค์การขออนุญาตอย่างชัดเจน เพื่อให้ผลผลิตที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมย้ำการปลดล็อกครั้งนี้ยังไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในทางสันทนาการ

ด้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในส่วนของการครอบครองพืชกัญชา มีคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ 1.การควบคุมเริ่มต้นตั้งแต่การผลิต การปลูก สกัด จะต้องผ่านการขออนุญาตโดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 โดยปัจจุบันนี้มีการอนุญาต 1.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย 2.วิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน 3.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ 4.วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ หน่วยบทเฉพาะกาลของ ฉบับที่ 7 ระบุว่า กลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจะต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ