คุณยายสุดแกร่ง ปีนต้นมะพร้าวเองทุกวัน เก็บน้ำหวานมาทำน้ำตาลปึก

11 ธ.ค. 63

อึ้ง คุณยายสองพี่น้อง ยึดอาชีพทำน้ำตาลปึกขาย เลี้ยงปากท้อง ซ้ำยังปีนต้นมะพร้าวได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อเก็บเอาน้ำหวานจากต้นมะพร้าวเองทุกวัน

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามี ชาวบ้านในตำบลทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรเป็นผู้หญิง สูงอายุ ยังคงปีนต้นมะพร้าวเพื่อเก็บเอา น้ำหวานจากงวงของเกสรต้นมะพร้าวมาทำน้ำตาลปึกขาย ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ในตำบลทุ่งคา พบว่ามีชาวบ้านปลูกต้นมะพร้าวในบริเวณดังกล่าวเพื่อเก็บเอาน้ำหวานมาทำเป็นน้ำตาลมะพร้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีครอบครัว ของคุณยายลัดดา สวดตะนัง อายุ 64 ปี และคุณยายอุไร สวดตะนัง อายุ 62 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 147 หมู่ 7 ตำบลทุ่งคาอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

1607693393596

บ้านหลังดังกล่าวที่สองคนพี่น้องอาศัยอยู่ริมถนนสายวัดหนองหมุก-สถานีรถไฟทุ่งคา เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงเหมาะกับการปลูกมะพร้าว เนื่องจากทนต่อการถูกน้ำท่วมขัง และในพื้นที่ใกล้เคียงติดกับตัวบ้าน มีโรงไม้ที่มุงด้วยหลังคาจาก ซึ่งเป็นโรงที่ใช้ในการทำน้ำตาลปึก

คุณยายลัดดา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองและครอบครัวซึ่งมีคุณพ่อและคุณแม่รวมถึงพี่น้องได้ย้ายมาจากสมุทรสงคราม เมื่อปี 2514 ได้มาซื้อที่ดินที่ตำบลทุ่งคาแห่งนี้ เพื่อปลูกมะพร้าวน้ำหอม จำนวน 20 ไร่ เพื่อไว้เก็บทำน้ำตาลมะพร้าวขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ครอบครัวตนเองมีความชำนาญที่ส่งต่อมาจากรุ่นปู่ มารุ่นพ่อและมายังรุ่นตนเอง ที่สืบทอดอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวนี้มาโดยตลอด

1607693304765

นางสาวลัดดา เล่าว่า ตนเองเมื่อเริ่มช่วยงานพ่อแม่ได้ ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะทำน้ำตาลมะพร้าว มาตั้งแต่อายุ 14 ปีจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาตนเองได้ปีนต้นมะพร้าว เพื่อไปเก็บเอาน้ำหวาน จากต้นมะพร้าวแล้วฝนตกหนัก และได้เกิดฟ้าผ่า ทำให้ตนเกิดความตกใจแล้วปล่อยมือหลุดจากต้น และพลัดตกร่างกระแทกพื้นแขนและขาหัก ไม่สามารถปีนขึ้นไปเก็บน้ำหวานจากต้นมะพร้าวได้อีกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ตอนนี้ก็เหลือแต่เพียงคุณยายอุไร ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งมีอายุ 62 ปี ที่ยังคอยปีนขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อไปเก็บเอาน้ำหวาน จากต้นมะพร้าวลงมาทำน้ำตาลขายเพียงคนเดียว

1607693331596

ทุกๆ วันทั้งเช้าและเย็น คุณยายอุไรจะปีนต้นมะพร้าวเพื่อไปเก็บ และปาดงวงมะพร้าวเพื่อเอาน้ำหวานจากเกษรมะพร้าวที่มีภาชนะเป็นกระบอกพลาสติกใช้รองรับไว้ ลงมาแล้วช่วยกันกรองเอาน้ำหวานที่ได้มาคัดแยกเอาเศษขยะ แมลง ผึ้ง ติดลงไปในน้ำหวานออกไป หลังจากนั้นก็จะเอามาต้ม รวบรวมไว้ให้ได้ 3 วัน ก็จะเข้าสู่กระบวนการเคี่ยวเพื่อทำน้ำตาลปึก ที่ได้จากน้ำหวานของต้นมะพร้าว

สำหรับการทำน้ำตาลปึกนั้น สองพี่น้องจะช่วยกันเอาน้ำหวานที่ได้มาต้มลงในกระทะขนาดใหญ่โดยจะใส่น้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อยเพื่อให้น้ำตาลที่ได้เกิดความแข็งตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่ใส่น้ำตาลจะไม่จับตัวกันเป็นก้อน โดยจะต้มไปเรื่อยๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งคุณยายลัดดาเปิดเผยอีกว่าในการต้มน้ำตาลนั้น หากต้องการให้ได้น้ำตาลที่มีสีแดงสวยน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น จะต้องเอาใบมะพร้าวซึ่งเป็นใบสดๆ มาต้มลงในกระทะพร้อมกับน้ำหวาน จะทำให้น้ำตาลที่ได้มีสีสันน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

1607693264781

เมื่อน้ำตาลมีความเหนียวข้นแล้ว ก็จะยกลงมาวางด้านล่างและจะเข้าสู่กระบวนการตีน้ำตาลให้มีความเหนียวข้น โดยคุณยายอุไร ผู้เป็นน้องจะใช้ไม้ ที่เป็นไม้สำหรับตีให้น้ำตาลจับตัวกันและมีความเหนียว โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 15-20 นาที เมื่อน้ำตาลเริ่มจับตัวกันเป็นก้อน ก็จะใช้ช้อนเป็นช้อนคันเล็กๆ ที่ใช้สำหรับกินข้าว ค่อยๆ ตักน้ำตาลลงมาวางบนผ้าที่เตรียมไว้ เป็นกระบวนการสุดท้ายก่อนที่จะใส่ถุง เพื่อจำหน่ายให้กับแม่ค้าที่มารอรับ โดยใน 1 กระทะ จะได้น้ำตาลประมาณ 15-17 กิโลกรัม โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 40 บาท

1607693515426

คุณยายลัดดา เล่าให้ฟังต่อว่า น้ำตาลมะพร้าวที่ตนเองทำนั้น จะไม่ใส่สารกันบูดใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะใช้เศษของไม้เคี่ยม ใส่ลงไปในกระบอก ก่อนที่จะไปรอรับน้ำหวานจากต้นมะพร้าวเรียกได้ว่า เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งหากไม่ใส่เศษไม้เทียมลงไปนั้น จะทำให้น้ำหวานที่ได้มามีรสชาติเปรี้ยว ไม่สามารถนำมาทำน้ำตาลได้ ต้นมะพร้าวที่จะปลูกเพื่อรอรับเอาน้ำหวานนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกันเพราะหากได้ต้นมะพร้าวที่มีน้ำหอมหวานน้ำตาลที่ได้มาก็จะมีความหอมหวานด้วยเช่นกัน

1607693572374

หากใครสนใจอยากเข้าไปศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้น สามารถติดต่อไปได้ที่ เบอร์ 098-7683760 หรือหากใครสนใจอยากได้น้ำตาลมะพร้าวเป็นของฝากหรือ ไปใช้ในครอบครัวไม่ว่าจะทำขนมทำอาหารก็สามารถติดต่อได้ เรียกได้ว่าได้น้ำตาลมะพร้าว ที่มีความหอม และสดใหม่ทุกวัน ที่สำคัญจำหน่ายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 40 บาทเท่านั้นซึ่งหากเทียบกับกระบวนการขั้นตอน ความเสี่ยงตั้งแต่แรกเรียกได้ว่าคุ้มค่า คุ้มราคากับคุณภาพที่ได้อย่างแน่นอน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ