ติงประเด็น "พญานาค" ติดกันหลายวัน ล่าสุดวันนี้ 10 ก.พ. 64 พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ขอเตือนสติอีกสักรอบ อีกทั้งยังมองว่า "หมอดู" นี่แหละคือตัวแปรสำคัญในการชี้นำ นำพาความเชื่อผิดๆ มาสู่วัดและชาวพุทธ
ข้อความจากเฟซบุ๊ก พระมหาไพรวัลย์ ระบุว่า "นี่ก็คือปัญหาหนึ่งของสังคมไทยนะ คือสังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อหมอดูมากกว่าหมอที่อยู่ในโรงพยาบาล แล้วหลายครั้งหมอดูพวกนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำความเชื่อและการปฎิบัติที่ผิดๆ มาสู่วัด มาสู่คนพุทธอย่างไม่น่าให้อภัย
อย่างที่เราเห็น เพราะเชื่อหมอดู วัดบางวัดถึงกับจัดให้มีพิธีบูชาของดำเซ่นไหว้ราหูหัวขาด ทั้งๆ ที่ราหูในตำนานของพระพุทธศาสนา เป็นธรรมาธิษฐานแห่งชั่วร้าย เดี๋ยวนี้คนไปบูชาความชั่วร้ายกันใหญ่เลย บูชาชูชก จิ้งจก ตุ๊กแก ในพระพุทธศาสนาไม่มี นาคเทพ แบบที่หมอดูท่านนี้กล่าว ในอรรถกถาพระธรรมบท ตอนว่าด้วยสักกวัตถุ พระอรรถกถาจารย์ เขียนไว้ชัดว่า เทวโลกสฺมึ หิ ติรจฺฉานคตา น โหนฺติ ในเทวโลกไม่มีสัตว์เดรัจฉาน
คำว่า วิรูปักษ์ ที่พูดถึงเทวดาตนหนึ่งในชั้นจาตุมมหาราชิกา ไม่ได้มีความหมายถึง นาคราชแบบที่หมอดูท่านนี้เข้าใจ แต่หมายถึง เทวดาที่ทำหน้าที่ดูแลให้ความคุ้มครองกับเหล่าพญานาคในทิศหนึ่งเท่านั้น นาคก็คือนาค เป็นสัตว์เดรัจฉาน อยู่ในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ทั้งนาคเทพและภูมิเทวดาแบบที่หมอดูท่านนี้หลงเข้าใจผิดไปเอง
อาตมาอยากจะเสริมต่อว่า ในบทสวดแห่ง วิรูปกฺเข ในขันธปริตตกถาที่เราใช้สวดกัน ซึ่งมีปรากฎอยู่ในอหิสูตร ไม่ใช่บทสวดเพื่อการสรรเสริญบูชาพญานาคหรือสัตว์เดรัจฉานอะไรเลย
ในอหิสูตรนั้น เล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกให้ภิกษุเจริญเมตตาไปในเหล่างูทั้งหลาย แล้วไม่ใช่แค่งูนะ แม้สัตว์มีพิษอื่นๆ อย่างแมลงป่อง ตะขาบ แมงมุม ภิกษุก็ควรเจริญเมตตาไปถึงด้วย
เรื่องมีเท่านี้เอง เป็นการสอนให้ภิกษุรู้จักเจริญเมตตาในสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย อาตมาถึงได้ย้ำหลายครั้งว่า เวลาศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องศึกษาให้แตกฉาน ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะเอาความเป็นโหรเป็นพราหมณ์มากล่าวตู่พระพุทธเจ้า มากล่าวตู่พระศาสนธรรมคำสอน หรือแม้แต่มานำพาชาวพุทธให้นำอะไรนอกธรรมนอกศาสนาไม่ใช่ว่า ท่านพูดถึงครุฑ ก็พากันไปไหว้ครุฑ พูดถึงนาค ก็ให้พากันไปไหว้นาค แบบนี้ต่างหากนะที่ควรจะเรียกว่า โง่เขลาเบาปัญญา