ฮือฮา! น้ำบาดาล "รสโซดา" โผล่กาญจนบุรี "กรมอนามัย" เตือนมีโรคประจำตัวไม่ควรดื่ม

12 ก.พ. 64

ฮือฮา! น้ำบาดาล "รสโซดา" โผล่กาญจนบุรี ชาวบ้านแห่พิสูจน์ ด้าน "กรมอนามัย" เผยเป็นน้ำแร่ดื่มได้ แต่ผู้มีโรคประจำตัว เช่น มีอาการบวมน้ำ โรคไต ความดันสูง กรดเกินไม่ควรดื่ม 

วานนี้(11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณริมถนนสายบ่อพลอย–ห้วยกระเจา นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมคณะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการเจาะบ่อบาดาลให้กับประชาชนชาวอำเภอห้วยกระเจาในพื้นที่หมู่ 12 และหมู่ 19 ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี

ระหว่างได้ทำการเจาะบ่อบริเวณหมู่ที่ 19 จำนวน 3 บ่อ ขณะเจาะบ่อที่ 1 ความลึก 300 เมตร และกำลังจะนำท่อลมลงไปเป่าไล่เศษหินได้เกิดน้ำพุ่งขึ้นสร้างความตกใจแก่เจ้าหน้าที่เจาะบ่อเป็นอย่างมาก ซึ่งท่อมีขนาด 8 นิ้วมีน้ำพุ่งขึ้นมาสูงจากระดับพื้นดินกว่า 3 เมตร และน้ำที่ไหลพุ่งขึ้นมานั้นไหลไม่ยอมหยุดตลอดคืน ทางเจ้าหน้าที่ต้องใช้รถแบคโฮมาปรับเป็นคันพนังเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปลงไร่อ้อยชาวบ้านใกล้เคียง โดยหลังจากน้ำที่พุ่งขึ้นมาไม่หยุด ชาวบ้านต่างเดินทางนำภาชนะมารองน้ำกลับไป หลายคนดื่มแล้วต่างบอกว่าน้ำมีรสชาติคล้ายกับโซดา กรมทรัพยากรน้ำเก็บตัวอย่างพิสูจน์ 

vlcsnap-2021-02-12-14h41m26s7

ซึ่งขณะนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจพบน้ำบาดาลที่หมู่ 12 บ้านพยอมงาม จำนวน 4 บ่อ ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 52ลบ.ม./ชม. และที่หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณอีกจำนวน 2 บ่อปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 66ลบ.ม./ชม.คิดปริมาตรรวม 1,700,000 ลบ.ม./ปี ประชากรจะได้รับประโยชน์จำนวน 15 หมู่บ้าน รวม 7,000 กว่าครัวเรือน พื้นที่เกษตร 6,000 ไร่ ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการก่อสร้างถังประปาบาดาลขนาดใหญ่ ถังเก็บน้ำท่อ จุดจ่ายน้ำถาวรแบบท่องวงช้างและต่อเมน เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบประปาของ อปท.และใช้ในการเกษตรต่อไปคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 4 เดือน 

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.พ. 64) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำบาดาลดังกล่าว เบื้องต้นพบมีค่า PH หรือค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 6.75 มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำธรรมดามาก ไม่เจอสารพิษใดๆ ปนเปื้อน แต่พบปริมาณไบคาร์บอเนตสูง ซึ่งเป็นน้ำแร่ชนิดหนึ่งในจำนวนหลายๆ ชนิด เช่น น้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate water) น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต (Sulfate-bicarbonate waters)

vlcsnap-2021-02-12-14h41m21s6

ทั้งนี้แต่ละชนิดก็จะมีคุณประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภคแตกต่างกันไป สำหรับคนปกติการดื่มน้ำแร่ก็เหมือนกับดื่มน้ำที่สะอาดทั่วไป แต่ผู้ป่วยที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก และผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็งไม่ควรดื่มน้ำแร่

นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ถึงแม้น้ำบาดาลดังกล่าว จะมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีเหมาะสมตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค แต่การนำมาจัดทำระบบประปาเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนควรเพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคก่อน เนื่องจากอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคในระหว่างการกักเก็บ หรือในระบบจ่ายน้ำก่อนถึงครัวเรือนประชาชนได้

จากข้อสงสัยเกี่ยวกับการดื่มน้ำบาดาลดังกล่าวจะเป็นโรคนิ่วหรือไม่นั้น นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่าโรคนิ่วเกิดจากการรวมตัวกันของผลึกของเกลือแร่หรือหินปูนจนเป็นก้อนนิ่ว เนื่องจากความเข้มข้นของเกลือแร่ในปัสสาวะสูง เช่น ดื่มน้ำ น้อยกว่าปกติ หรือกินอาหารบางประเภทที่มีเกลือแร่ขับออกมาทางน้ำปัสสาวะมาก ซึ่งการดื่มน้ำแร่ ไม่ได้ทำให้เกิดนิ่วและไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ