ภายหลังจากที่นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอ ของสเปซเอ็กซ์ และบอริง คอมพานี ทวีตคลิปและข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุแปลความเป็นภาษาไทยว่า “ทดสอบอุปกรณ์ผ่านช่องแคบ” ซึ่งคลิปดังกล่าวเป็นการทดสอบเกี่ยวกับยานดำน้ำขนาดเล็กในสระ ผ่านช่องที่มีการกั้นเป็นที่แคบ เพื่อเป็นเครื่องมือในการนำเอาเด็กๆ ทีมหมูป่า อะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย
วันที่ 9 ก.ค. 61
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการและอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวเรียกว่า “เรสคิว พอด” หรือ "ตอปิโดใต้น้ำ" ซึ่งถูกดีไซน์ขึ้นมา โดยในต่างประเทศนั้นแรกเริ่มได้มีการผลิตเป็นแคปซูลอลูมิเนียม ที่มีความแคบ 30 เซนติเมตร แต่คนสามารถเข้าไปอยู่ได้ โดยมีการถ่ายเทอากาศจากถังออกซิเจน เข้าไปในแคปซูลดังกล่าวให้ด้วย ซึ่งได้ถูกนำไปทดสอบในสระว่ายน้ำและเคยได้ถูกนำไปใช้ในถ้ำที่มีความมืดสนิทมาแล้วก็ไม่พบปัญหาใดๆ
แต่ในครั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวที่ถูกนำมาช่วยเหลือใช้เป็นวัสดุแบบผ้าใบ ซึ่งมีความยืดหยุ่น ง่ายต่อการงอตัว โดยเป็นเทคโนโลยีของนาซ่า และไม่ใช่ไนลอนธรรมดา ซึ่งผู้ที่ผลิตมีการประเมินมาแล้วว่าไม่ระคายเคืองหรือไม่มีการฉีกขาดหากกระทบกับจุดที่มีความแหลมคมของหินในถ้ำ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการประเมินว่าอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นจะมีประสิทธิภาพเชิงปฏิบัติ หรือสามารถให้น้องๆ อยู่ภายในอุปกรณ์ดังกล่าวได้นานกว่า 3 ชั่วโมงหรือไม่ เนื่องจากการพาตัวน้องๆออกมาจากถ้ำได้นั้นต้องใช้เวลานาน
ซึ่งโดยส่วนตัวตนมองว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะสมสำหรับใช้ลำเลียงผู้ประสบภัยที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องมีการประเมินกันว่าน้องน้องๆ ทั้ง 9 คนที่เหลือนั้น จะมีศักยภาพทางร่างกายในการพาตัวออกมาจากถ้ำนั้นมีมากน้อยแค่ไหน โดยหากร่างกายไม่พร้อมสำหรับการดำน้ำ ก็คงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการพาตัวออกมา
ทั้งนี้ หลังจากได้ทราบข่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการนำตัวนักกีฬาที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ออกมาได้แล้วอย่างปลอดภัย ต้องขอบอกว่าการปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง พร้อมกับชื่นชมการบริหารจัดการของผู้บัญชาการในพื้นที่ซึ่งทำได้ยอดเยี่ยมมาก เนื่องจากมีการยอมรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศ
ด้าน
นายดรล์ รัตนทัศนีย ครูสอนดำน้ำ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำทางทะเลมานานกว่า 40 ปี เปิดเผยว่า จากภาพที่เห็นพบว่ามีลักษณะเป็นท่อที่ดูแข็งแรงทนทาน เป็นระบบปิดหัวท้าย มีการต่อท่ออากาศเข้าไปจากถังอากาศที่ติดอยู่ด้านข้าง เพื่อให้คนข้างในหายใจได้ พร้อมทั้งมีการทดสอบโดยนักดำน้ำสองคน คนหนึ่งมีหน้าที่ลากนำทาง และอีกคนคอยผลักดันอุปกรณ์ให้เคลื่อนไปข้างหน้า ผ่านช่องที่เขาต้องการอธิบายว่า สามารถเคลื่อนที่ผ่านที่แคบได้ โดยน่าจะมีการใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนัก (คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณสายสีดำที่พันอยู่รอบๆ ช่วงท้าย และสายสีเหลืองที่พันอยู่ด้านหน้า)
ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่จะนำมาใช้เคลื่อนย้ายทีมหมูป่าออกจากถ้ำ เพราะคนที่อยู่ด้านในอุปกรณ์ก็ไม่ต้องทำอะไร สามารถนอนออกมาได้สบายเลย แต่ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าสภาพภายในถ้ำหลวงจริงๆ เป็นอย่างไร แต่จากการติดตามข่าวสารทราบว่าภายในถ้ำมีซอก หรือช่องแคบที่คดเคี้ยว จึงไม่แน่ใจว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะขนาดเล็กพอจะที่จะเคลื่อนผ่านช่องแคบและคดเคี้ยวต่างๆ ได้หรือไม่ มันคงไม่ง่ายเหมือนกับที่ทดลองในสระ
ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวสาร ทราบว่าผู้บัญชาการ ศอร. ใช้วิธีการให้เด็กใส่หน้ากาก full face แล้วพาดำน้ำออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมและเคยเสนอวิธีการนี้มาตั้งแต่ต้น
เช่นเดียวกับ
นพ.สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู แพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านการกู้ภัย เปิดเผยว่า อุปกรณ์ที่นายอีลอนเสนอนั้น ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ถ้ามีโอกาสได้ใช้ แต่ปัญหาหนึ่งที่อาจจะเจอคือเมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวถึงไทยแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาฝึกคนของเราใช้อุปกรณ์นี้อีกหรือไม่ ซึ่งอาจจะสามารถช่วยเด็กๆ ออกมาได้ก่อนจะได้ใช้อุปกรณ์
ทั้งนี้ ตัวเองยอมรับว่าไม่รู้ว่าสภาพที่แท้จริงภายในถ้ำเป็นอย่างไร แต่ความยาวขออุปกรณ์อาจจะเป็นปัญหากับสภาพจริงของถ้ำที่มีลักษณะบางจุดที่แคบและชัน หรือมีลักษณะคล้าตัวเจ (J) ซึ่งต้องไปประเมินหน้างานกันอีกที