จากเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนและครูฝึกสอน ทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ทั้ง 13 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นข่าวที่สื่อต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก ล่าสุด สื่อประเทศญี่ปุ่นผลิตภาพยนตร์สั้นความยาวโดยประมาณ 5 นาที เล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์การติดถ้ำหลวงในครั้งนี้ โดยมีผู้ชมจำนวนมาก
วันที่ 10 ก.ค. 61
อาจารย์วรารัตน์ ทักษิณวราจาร รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นที่สนใจข่าวนี้ แต่เป็นข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะภัยแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยการให้ความรู้กับคนในชาติ โดยต้องให้รู้ลึกรู้จริงเพื่อสามารถเอาไปใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ ญี่ปุ่นจึงได้จำลองเรื่องราวขึ้นมาเป็นหนังสั้น ซึ่งสื่อสารได้ชัดเจนกว่าคำบอกเล่าหรือ info-graphic เห็นได้จากคลิปที่เล่าถึงการปฏิบัติตัวในถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดื่มน้ำที่หยดลงมาจากหินไม่ใช่เอาน้ำจากพื้นมาดื่ม รวมถึงการนำประวัติของโค้ชที่เคยบวชเรียนมาเสนอ ว่าโค้ชนำสิ่งนี้มาสอนเด็กให้ทำสมาธิลดการสูญเสียพลังงาน เชื่อว่าคลิปนี้เป็นการให้ความรู้ที่ดี ทำให้เห็นภาพชัดเจน
ทั้งนี้
อาจารย์วรารัตน์ เชื่อว่า ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติขึ้นอยู่บ่อย ๆ แต่ญี่ปุ่นใส่ใจกับการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมหากญี่ปุ่นต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้บ้าง ตอนนี้เราต้องหันกลับมามองการศึกษาไทย เราสอนสิ่งที่เด็กไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง เราให้เด็กทุกคนทุกพื้นที่เรียนเหมือนกัน ไทยควรเปลี่ยนแนววิธีการเรียน เด็กควรจะไปทัศนศึกษา มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบนี้ แทนที่จะเรียนในห้อง เราควรย้ายที่เรียนมาเรียนในถ้ำ ยิ่งเป็นเด็กในพื้นที่แล้วด้วย ส่วนเด็กที่อยู่ในพื้นที่อื่นการดูคลิปแบบญี่ปุ่นก็เป็นตัวเลือกทดแทนได้ ถ้ามาเรียนในถ้ำจริง เราก็สามารถที่จะบูรณาการวิชาต่าง ๆ ได้ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สอนบทสนทนาเหมือนหมูป่าคุยกับต่างชาติ วิขาคำนวณก็ได้ ระยะทางในถ้ำ วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ การเรียนในห้องเรียนเรียนจากกระดาน ไม่สามารถช่วยให้เด็กเอาชีวิตรอดได้