อย. ยัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ต่อครั้งต้องฉีด 0.5 มิลลิลิตร

21 พ.ค. 64

อย. ย้ำ ปริมาณการฉีด วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ต่อครั้งต้อง 0.5 มิลลิลิตร ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการผลิตวัคซีนที่บรรจุใน 1 ขวดแบบมีหลายโดส จะมีการบรรจุปริมาณวัคซีนไว้เกินกว่าที่ฉลากกำหนดทุกขวด หากมีวัคซีนที่เหลืออยู่ในขวดจากการบรรจุเกินนี้ องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับว่าสามารถนำไปใช้ได้ และ อย. ไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด

สาธารณสุขยืนยัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด ฉีดได้ 12 โดส 

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ฉีดแต่ละครั้งว่าจะไม่ครบปริมาณตามที่กำหนดไว้ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ปริมาณการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อครั้งต้อง 0.5 มิลลิลิตร การผลิตวัคซีนที่มีการบรรจุใน 1 ขวดแบบมีหลายโดสนั้น ปริมาณวัคซีนที่บรรจุในขวดจะบรรจุเกินจากที่ฉลากกำหนด เพื่อป้องกันการสูญเสียวัคซีนไปจากการดูดวัคซีนจากขวดในแต่ละครั้ง

กรณีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้ คือ 10 โดส โดยระบุบนฉลาก 5 มิลลิลิตรต่อขวด และบริษัทผู้ผลิตได้บรรจุวัคซีนไว้จริงที่ 6.5 มิลลิลิตร โดยเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสถานที่ผลิตของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้แจ้งไว้กับ อย. ดังนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ปริมาณการฉีดต้องเป็นไปตามปริมาณที่กำหนด คือ ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร เพื่อให้ได้ระดับวัคซีนตามมาตรฐานและเกิดประสิทธิภาพ หากมีวัคซีนที่เหลืออยู่ในขวดจากการบรรจุเกินนี้ องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับว่าสามารถนำไปใช้ได้ และ อย. ไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าไม่ควรนำวัคซีนที่เหลือในแต่ละขวดมารวมกันแล้วใช้

เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คืออาการข้างเคียง ซึ่งวัคซีนทุกรายการมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ ไม่มากก็น้อย เช่น ปวด บวม แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ อาการปวดเมื่อย ไม่สบายตัว ในการรับวัคซีนจึงต้องสังเกตอาการหลังการฉีด และสามารถดูแลเบื้องต้นได้โดยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณมาก หรือกินยาพาราเซตามอล ลดไข้ได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในวัคซีนที่รัฐจัดสรรและนำมาบริการประชาชน ดังนั้น อย. จึงขอเชิญชวนประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

ผลวิจัยพบวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ต้านโควิดสายพันธุ์อินเดียได้ 97% 

อนุทิน ชี้ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลักแม้เหลือน้อย ขณะซิโนแวคมีหลายล้าน 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ