ชาวพิษณุโลกผวา! อาจารย์มหาวิทยาลัยซื้อหมูจากห้างสรรพสินค้ามาหั่นเป็นชิ้นเพื่อทำหมูกระทะ แต่มือเป็นแผลทำให้เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด สุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ ด้านสาธารณสุขเตือนอย่าตื่นตระหนกควรกินอาหารปรุงสุกปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีงานระบาดวิทยาสำนักงานสาธารณสุขได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก ว่าพบผู้เสียชีวิตโดยโรคไข้หูดับจำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 49 ปี อาศัยในพื้นที่ตำบลพลายชุมพล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทีม PCC โรงพยาบาลพุทธชินราชจึงได้ดำเนินการสอบสวนโรคในพื้นที่ผลยืนยันการระบาดของโรคและหามาตรการป้องกันควบคุมโรคแล้ว
นายแพทย์รัฐภูมิ ชามพูนท รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกเปิดเผยว่า กรณีผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 49 ปี อาชีพอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ซื้อเนื้อหมูจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาประกอบอาหารปิ้งย่างหมูกระทะร่วมกับเพื่อนๆ จำนวน 7 คน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผู้เสียชีวิตได้เป็นผู้หั่นหมูและมีแผลที่มือ จากนั้นวันที่ 14 มิถุนายน เวลา23.00 น.เลยเริ่มมีอาการท้องเสีย อาเจียน จึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก โดยมีอาการปวดกระดูก หนาวสั่น ปากเขียว และเข้ารักษาห้องไอซียู ร่างกายไม่ตอบสนองและไตไม่ทำงาน เสียชีวิตในเวลา 23.58 น.ของวันที่ 15 มิถุนายน แพทย์สงสัยเป็นโรคไข้หูดับจึงนำเลือดส่งตรวจ ผลยืนยันว่าเป็นโรค Streptococcussuis หรือโรคไข้หูดับ ซึ่งผู้เสียชีวิตก็ได้มีการฌาปนกิจไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นทีมสอบสวนจากโรงพยาบาลพุทธชินราชได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติม พบว่าจากการตรวจที่ห้างดังกล่าวมีการรับหมูแช่แข็งมาจาก 4 บริษัท โดยเป็นหมูที่มีโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิและมีการตรวจมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ
นายแพทย์รัฐภูมิได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคสเตรปโตคอคคัสซูอิสในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบมีผู้ติดเชื้อจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งพบผู้มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตจำนวน 2 ราย สำหรับอัตราการป่วยด้วยโรคไข้หูดับของจังหวัดพิษณุโลกสถิติสูงสุดที่อำเภอเมืองพิษณุโลก รองลงมาอำเภอเนินมะปราง นครไทย วังทอง วัดโบสถ์ พรหมพิราม บางกระทุ่ม บางระกำ และอำเภอชาติตระการ ตามลำดับ โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้โดยทั่วไป แต่สำหรับโรคสเตรปโตคอคคัสซูอิสนี้เกิดขึ้นในเนื้อหมูหรือสุกรซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการกินหมูสุกๆ ดิบๆ หรือจากมือมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด
กรณีนี้ทราบว่าผู้เสียชีวิตมีบาดแผลที่มือแล้วเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทางบาดแผลหรืออาจเกิดจากการบริโภคเนื้อหมูที่มีเชื้อ ซึ่งโอกาสการเกิดเชื้อโรคไข้หูดับดังกล่าวไม่ได้พบบ่อยมากนัก ฝากเตือนประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก การป้องกันโรคไข้หูดับนี้สามารถป้องกันได้โดยบริโภคเนื้อหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น อย่ากินดิบหรือสุกๆ ดิบๆ อีกทั้งหากมีบาดแผลที่มือก็เลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมู น้ำเลือด หากมีการสัมผัสให้ล้างทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ที่สำคัญการบริโภคหมูกระทะไม่ควรใช้ตะเกียบที่คีบหมูดิบมาหยิบอาหารใส่ปากเด็ดขาดควรใช้แยกกัน