โรงงานแปรรูปไก่ จ.เพชรบูรณ์ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งไม่หยุด ล่าสุดตัวเลขการตรวจหาเชื้อในเบื้องต้นพบจำนวนผู้ป่วย 1,068 คนแล้ว โดยจะมีการรอผลตรวจยืนยันตัวเลขที่แน่ชัดอีกครั้ง ขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคอำเภอบึงสามพัน เพิ่มมาตรการเชิงรุกปิดหมู่บ้านใกล้เคียงและรอบโรงงานห้ามคนเข้า-ออกพื้นที่ เพื่อเร่งตรวจหาเชื้อ
จากสถานการณ์การตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าของโรงงานแปรรูปไก่ชื่อดัง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นทราบว่าเกิดจากการแรงงานลักลอบเดินทางออกจากแคมป์คนงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่แคมป์คนงานของโรงงานแปรรูปไก่ในจังหวัดเพชรบูรณ์
พนักงานควบคุมโรคอำเภอบึงสามพันประกอบด้วยหน่วยงานสาธารณสุขอสมงานปกครองตำรวจทหารจึงร่วมกับโรงงานแปรรูปไก่ ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามหลักการบริหารจัดการควบคุมโรคในพื้นที่ควบเฉพาะแบบมีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ 1649/2564 ให้โรงงานแปรรูปไก่หยุดกระบวนการผลิตในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นระยะเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23–26 กรกฎาคม 2564 เพื่อคัดกรองกลุ่มผู้ใช้แรงงานและดำเนินการบริหารจัดการควบคุมโรคในพื้นที่ควบเฉพาะแบบมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) และระหว่างการดำเนินการควบคุมโรคพนักงานควบคุมโรคอำเภอบึงสามพันได้แจ้งให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มแรงงานดังกล่าวที่อยู่ในชุมชนหมู่บ้านแยกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเร่งดำเนินการสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกเพิ่มเติมด้วยวิธี antigen test kit โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีจำนวนแรงงานทั้งแรงงานต่างด้าวชาวพม่าและแรงงานไทยทั้งหมด 7,500 ราย โดยได้ดำเนินการสุ่มตรวจไปแล้วจำนวน 2,950 ราย ซึ่งผลการตรวจหาเชื้อในเบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อ (ผลบวก) จำนวน 1,068 ราย ซึ่งจะต้องรอผลตรวจยืนยันอีกครั้งและอยู่ในระหว่างตรวจค้นหาเชิงรุกอีก 4,250 ราย ซึ่งจะเร่งดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เพื่อคัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อออกจากกัน หลังจากนั้นก็จะนำผู้ป่วยที่พบเชื้อเข้าแยกกักกันในโรงพยาบาลสนามที่ทางอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดเตรียมไว้แล้ว 1,292 เตียง และได้วางแผนขยายจำนวนเตียงเพิ่มอีกประมาณ 2,000 เตียง
หากตรวจพบผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงทางโรงงานแปรรูปไก่ได้เตรียมการรักษาโดยใช้พืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น ส่วนถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะให้รักษาตามขั้นตอนในโรงพยาบาลสนามต่อไป ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าของโรงงานแปรรูปไก่นี้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วจำนวน 3,000 ราย และได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 1,500 ราย ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดแผนการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าวและพนักงานของบริษัทให้ครอบคลุม 100% ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้แต่ก็มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมาเสียก่อน
นอกจากนี้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และผู้นำชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ก็ได้ร่วมกันดำเนินการตั้งจุดตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดในพื้นที่ควบคุมบริเวณชุมชนโดยรอบบริษัทจำนวน 7 จุด เพื่อลดและจำกัดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่อย่างเข้มงวด