จากกรณีเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 25 ก.ค. 64 ที่สำนักงานทนายความคู่ใจ ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นางสาวชนัญชิตา ศรีเป็ง อายุ 29 ปี พร้อมเพื่อนสาว เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ช่วยเหลือหลังโพสต์ภาพลอตเตอรี่ขายทางออนไลน์ แล้วปรากฏว่ามีลูกค้าทักมาจอง แต่ไม่ได้ชำระเงิน ต่อมาลอตเตอรี่ดังกล่าวถูกรางวัลที่ 1 ลูกค้าที่จองกลับไปแจ้งความว่าลอตเตอรี่หาย ทำให้ตำรวจที่ จ.อุดรธานี เดินทางมาอายัดการขึ้นรางวัลนั้น
วันที่ 26 ก.ค. 64 น.ส.ศิริลักษณ์ ศรีนวลจันทร์ หรือ เปียโนผู้ซื้อลอตเตอรี่ อัดคลิปอธิบายถึงการซื้อเลขรางวัล ระบุว่า ตนเองนั้นติดต่อผ่านคนชื่อหญิง เพื่อซื้อรางวัล โดยเป็นการซื้อผ่านออนไลน์ และสอบถามถึงเลขรางวัลที่มี ซึ่งมีเลข 2 แผงให้เลือก ตนเองก็เลือกไป 8 ใบ แผงละ 4 ใบจากนั้นก็มีการโอนเงิน 960 บาท ช่วง 22.00 น. ของวันที่ 15 ก.ค. 64 ก่อนที่จะมีการส่งสลากที่ซื้อกลับมาให้ดูเพื่อยืนยันว่าสลากมีจริง และเป็นของตนเองแล้ว ซึ่งมีภาพการส่งแพ็คสลากเขียนชื่อเอาไว้
หลังจากนั้น 16 ก.ค.64 หลังรู้ว่าถูกรางวัลจึงแจ้งไปยังคนชื่อหญิง ว่าบริษัทจะขึ้นเงินให้กับตนอย่างไร ก่อนจะทราบว่าเกิดปัญหาขึ้น
ทั้งนี้ มีแชตการสนทนาซึ่งใช้ในการติดต่อซื้อรางวัลของ น.ส.ศิริลักษณ์ มีการคอนเฟิร์มสลาก 8 ใบ ใบละ 120 บาท ซึ่งมีเลขรางวัลที่ 1 อยู่ด้วย หมายเลข 556725 และยังมีการถ่ายรูปสลากยืนยันว่ามีสลากตัวจริงอยู่
น.ส.ศิริลักษณ์ ให้ข้อมูลว่า ตนเองมีการซื้อเพิ่มอีก 3 ใบ จำนวน 360 บาท โอนเงินช่วง 23.34 น. วันเดียวกัน 15 ก.ค.64
รวมงวด 16 ก.ค. 64 ซื้อรางวัลทั้งสิ้น 11 ใบ จำนวนเงิน 1,320 บาท
นอกจากนี้ยังมีแชตในวันที่ 16 ก.ค.64 ช่วง 17.28 น. ผู้ดูแลขายรางวัลชื่อ วิปครีม มาแสดงความยินดีกับลูกค้าในกลุ่ม "หวยไทย"ใช้คำพูดทำนองรอเป็นข่าว และให้โปรโมตว่าซื้อรางวัลที่นี่แล้วถูกรางวัลใหญ่ ซึ่งแสดงว่าบริษัทรู้ว่าลูกค้าถูกรางวัลที่ 1 จริง
ทีมข่าวเดินทางมาที่ สภ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ซึ่งพบว่า ร.ต.อ.เรืองเดช พ่อของผู้ซื้อลอตเตอรี่ไม่ได้เข้าเวร ด.ต.มงคล ชุมลี เพื่อนร่วมงานผู้กองเรืองเดช เปิดเผยว่า ตนเองทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ตนเป็นคนนำเอกสารหลักฐานแชตทางไลน์ของลูกสาวเพื่อนกับผู้ขายรางวัล ปรินต์ให้กับผู้กองเรืองเดช
เช้าวันที่ 17 ก.ค.64 ผู้กองเรืองเดชโทรศัพท์หาตนระบุว่าต้องการปรินต์เอกสารจากไลน์ เขาทำเองไม่เป็นจึงวานให้ตนช่วยทำให้ ตอนนั้นตนปรินต์แชทที่มีการสนทนาพูดคุยกันราว 4-5 แผ่น รายละเอียดเท่าที่ตนเห็นมีการส่งสลิปเงินในการซื้อขายรางวัล และฝ่ายผู้ขายได้ถ่ายรูปสลากกินแล่งรัฐบาลที่เห็นชัดเจน เป็นภาพละ 1 ใบ ส่งมาหลายชุด ซึ่งตนไม่รู้ว่าซื้อกี่ใบ เท่าที่เห็นยืนยันว่ามีเลขที่ถูกรางวัลที่ 1 อยู่ 1 ใบ และการซื้อขายเกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 ก.ค. 64
ส่วนผู้กองเรืองเดชก็เล่าว่า รางวัลนี้ลูกสาวเป็นผู้ซื้อ และถูกรางวัล แต่ไม่สามารถเอาไปขึ้นเงินได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการซื้อขายกันมาเป็นทอด ๆ
ทีมข่าวเดินทางไปที่บ้านของนางสาวชนัญชิตา ศรีเป็ง หรือ ขนม อายุ 29 ปี เจ้าของแผงลอตเตอรี่ โดยปกติลอตเตอรี่จะมีการส่งไปขายที่หน้าแผง มีสาขากระจายอยู่หลายพื้นที่ มีแผงขายอยู่ที่ จ.เชียงราย 3 แผง, จ.พะเยา 3 แผง, จ.ลำปาง 2 แผง และเป็นลูกค้าที่ซื้อยกเล่มอีกจำนวน 5-7 ราย มีตัวแทนหรือแม่ค้าขายออนไลน์อีก 12 คน โดยในช่วงโควิด-19 ระบาด ระยะหลังจึงได้ปรับการขายมาใช้ตัวแทนขายออนไลน์มากยิ่งขึ้น
นางสาวชนัญชิตา เจ้าของแผงลอตเตอรี่ เปิดเผยว่า การของการขายลอตเตอรี่แพงของตนเอง แม้ว่าระยะหลังจะเปลี่ยนมาเป็นการขายรูปแบบออนไลน์ แต่จะมีการแจ้งลูกค้าให้ชัดเจนเกี่ยวกับเวลาการโอนเงิน หรือเวลาการปิดรับยอด ส่วนใหญ่ก็จะใช้เงินเงื่อนไขเดียวกันคือ ให้โอนยอดปิดก่อนที่หวยจะออก ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะโดยทันที ส่วนใหญ่ก็จะต้องมีการปิดยอดก่อนเวลา 15.00 น. ก่อนที่หวยจะออกในเวลา 16.00 น.
โดยเริ่มจากนางสาวชิดชนก หรือ หญิง ซึ่งเป็นลูกค้า เพื่อนสนิทที่รู้จักกันกับตนเอง เข้ามาขอติดต่อซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ ตนเองจึงแนะนะว่า ให้ซื้อต่อกับตัวแทนหรือเพื่อนคนอื่น เนื่องจากตนจะใช้วิธีการขายแบบแผง หากจะซื้อให้ไปซื้อผ่านตัวแทนนั้น ซึ่งนางสาวชิดชนกได้ไปติดต่อกับ นางสาวพักตร์วิไล ดอนศรี หรือ วิปครีม ซึ่งเป็นตัวแทนขายลอตเตอรี่ออนไลน์ให้กับตนเอง ทุกงวดจะรับลอตเตอรี่ไปหลายเล่ม ดังนั้นการซื้อขายหรือการสั่งจองก็เกิดขึ้นระหว่างนางสาวหญิงกับนางสาวพักตร์วิไล
ทั้งนี้ สำหรับหวยอลวน ตนเองก็พอทราบบ้างว่า นางสาวชิดชนกเป็นลูกค้าที่มาซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์จากตัวแทนของตัวเอง แล้วมีการนำไปขาย เพื่อเกร็งกำไรหรือนำไปขายต่ออีกทอดให้กับลูกค้าคนอื่น
โดยวันที่ 16 ก.ค. นางสาวชิดชนก มีลอตเตอรี่จำนวน 29 ใบที่อยู่ในมือ เป็นรางวัลที่หนึ่ง "556725" ในวันดังกล่าวหลังจากที่หวยออกเวลา 16.00 น. แล้ว ตนเองยังโทรผ่านไลน์ไปพูดคุยกับนางสาวชิดชนก โทรไปแสดงความยินดี ตนยังบอกเขาว่า "เดี๋ยวตนเองจะนำไปขึ้นเงินและโอนเงินให้" แต่การแสดงความยินดีตัวเองก็ทำกับลูกค้าทุกคนที่เป็นลูกค้าของแผง เพียงแค่ยังไม่รู้ว่าการจองหรือการซื้อครั้งนี้มีการจ่ายเงินแล้วหรือไม่ ตอนนั้นทางด้านของนางสาวพักตร์วิไล ยังไม่ได้มีการสรุปหรือแจ้งยอดการโอนมาให้ ตนเองก็ทำได้เพียงแต่โทรไปแสดงความยินดีเท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่ตนเองรู้มาจากนางสาวหญิงว่า ทำไมถึงได้รับเงินจากลูกค้ามาแล้ว ไม่มีการโอนเงินให้กับตัวแทนหรือแผงหวย ด้านนางสาวหญิงตอบว่า "แอปฯการโอนเงินมีปัญหา"
ด้านนางสาวพักตร์วิไล ดอนศรี หรือ วิปครีม อายุ 29 ปี ตัวแทนที่นำลอตเตอรี่ไปขายออนไลน์ เปิดใจว่า การซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ทุกครั้งที่ตนเองทำกับลูกค้าคนอื่นก็จะมีการแจ้งเวลาในการปิดการขาย ให้มีการโอนเงิน และปิดยอดก่อนที่หวยจะออก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะรับทราบเงื่อนไข ในกรณีที่ทำให้เกิดเรื่องขึ้น เป็นเพราะคนรู้จักด้วยกันมาซื้อลอตเตอรี่ แล้วมีการเลือกหรือจองจำนวน 29 ใบ บอกว่ายังไม่พร้อมโอนเงินให้ แต่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเอง มีการส่งข้อความผ่านไลน์ว่าจะมีการโอนเงินในวันที่ 16 ก.ค. ตั้งแต่ 11.00-17.00 น. ซึ่งตอนนั้นตนเองด้วยความยุ่งกับการขายและปิดยอดลอตเตอรี่จึงได้ตอบตกลง และรอยอดจนกระทั่งถึงเวลา 17.00 น. ฉะนั้นเงื่อนไขการชำระเงินล่าช้าหรือการชำระหลังจากหวยออกแล้ว ก็ไม่ได้เกิดจากเจ้าของแผงหวย หรือตัวแทนอย่างตนเอง แต่เกิดจากตัวของลูกค้าเป็นคนกำหนดเอง
หลังจากที่ผลสลากกินแบ่งรัฐบาลออกในเวลา 16.00 น. ทุกคนก็รู้ว่าในจำนวนลอตเตอรี่ทั้งหมดที่อยู่ในแผงใหญ่ มีลูกค้าถูกรางวัลที่ 1 ตนเองก็นึกขึ้นได้ว่าเป็นของนางสาวหญิง ซึ่งมีการสั่งซื้อผ่านตนเอง ก็ทักข้อความไปหาว่า "น้องมีการจ่ายเงินให้พี่แล้วหรือยัง" จากนั้นเจ้าตัวก็ได้ส่งข้อความมาว่าจะมีการโอนเงินในเวลา 11.00 น. ไม่เกิน 17.00 น. เมื่อลูกค้าเป็นคนกำหนดเอง ตนเองก็เลยยึดถือตามนั้น แต่โดยปกติตนเองไม่เคยให้ลูกค้าจ่ายชำระเกินหลังจากที่หวย ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายปิดยอดก่อนที่หวยจะออกด้วยซ้ำ เหตุการณ์ครั้งนี้ตนเองยอมรับว่าเป็นการอะลุ่มอล่วยให้กับนางสาวหญิง ทั้งในฐานะเพื่อน และในฐานะที่เป็นลูกค้าครั้งแรก
ที่สำคัญ วันที่ 16 ก.ค. ก่อนกำหนดเวลาตอน 17.00 น. ตามที่นางสาวหญิงส่งข้อความมาบอกกับตนเอง ส่วนตัวก็ยังได้มีการโทรกลับไปหา ตอนเวลา 16.21 น. แต่พบว่านางสาวหญิงไม่รับสายและไม่โทรกลับ จนกระทั่งครบตามกำหนดเวลา 17.00 น. จึงได้แจ้งปิดยอดในกลุ่มของเจ้าของแผง เพื่อยืนยันว่าลอตเตอรี่จำนวน 29 ใบไม่มีการจ่าย แต่เมื่อครบตามระยะเวลาแล้วทุกคนก็ไปตรวจเช็ก และดูลอตเตอรี่ใบอื่นไม่ได้สนใจเกี่ยวกับการโอนเงินหรือรับยอดของนางสาวหญิงอีก เพราะถือว่าเลยกำหนดระยะเวลาการตัดยอดหรือระยะเวลาที่ยื่นเงื่อนไขเอาไว้
จนกระทั่งเวลา 17.49 น. นางสาวหญิงได้ส่งข้อความกลับมาว่า "พี่รอหน่อย น้องจะรีบโอนให้นะค่าหวย รอระบบธนาคารใช้งานได้ก่อน จะรีบโอนโดยทันที อย่างช้าสุดไม่เกินวันพรุ่งนี้นะคะ ใบที่ถูกรางวัลที่ 1 พวกพี่เอาไปแจ้งความหรือลงบันทึกประจำวันแล้วหรือยังคะ"
นายศุภสิทธิ์ ศิริ ผู้จัดการสำนักงานกฎหมายวงศกรณ์ ทนายความของ น.ส.ศิริลักษณ์ ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้น น.ส.ศิริลักษณ์ ผู้เสียหาย ยืนยันกับตนพร้อมมีหลักฐานที่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ได้ว่าเป็นผู้ซื้อลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 จริง โดยการซื้อผ่านไลน์ โดยผู้ที่นำหวยมาเสนอขายก็คือคนกลางที่รับหวยมาจากยี่ปั๊วลอตเตอรี่ ซึ่งมีการโฆษณา ซื้อขายหวยกันภายในกลุ่มดังกล่าว
ในกรณีที่เกิดขึ้นทางฝ่ายผู้ขายก็ยอมรับว่า น.ส.ศิริลักษณ์ ได้มาซื้อลอตเตอรี่ดังกล่าวจริง แต่ประเด็นคือคนกลางไม่ยอมโอนเงินค่าซื้อลอตเตอรี่ไปให้ทางยี่ปั๊ว ซึ่งคนกลางกล่าวอ้างว่ามีปัญหาขัดข้องทางด้านระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถโอนเงินได้ ทั้งที่ได้รับเงินจาก น.ส.ศิริลักษณ์ ไปแล้ว โดยแนวทางการต่อสู้ในคดีนี้ขอไม่ให้รายละเอียดเจาะลึกมากในส่วนของรูปคดี เนื่องจากมีความต้องการอยากจะดำเนินการตามพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมด ซึ่งมองว่าหลักฐานที่ได้มานั้นสามารถใช้ต่อสู้ได้ 100% เพราะหลักฐานมีความชัดเจนมาก