เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า "สถานการณ์ทั่วโลก 7 สิงหาคม 2564 ทะลุ 202 ล้านไปแล้ว อเมริกาติดเพิ่มกว่าแสนคนอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มระบาดทั่วโลกรุนแรงขึ้น อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันคล้ายกับระลอกที่ผ่านมา เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 662,651 คน รวมแล้วตอนนี้ 202,324,936 คน ตายเพิ่มอีก 9,624 คน ยอดตายรวม 4,289,123 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และอิหร่าน
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 112,361 คน รวม 36,428,283 คน ตายเพิ่ม 719 คน ยอดเสียชีวิตรวม 632,612 คน อัตราตาย 1.7%
อินเดีย ติดเพิ่ม 38,700 คน รวม 31,894,483 คน ตายเพิ่ม 616 คน ยอดเสียชีวิตรวม 427,401 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 42,159 คน รวม 20,108,746 คน ตายเพิ่ม 961 คน ยอดเสียชีวิตรวม 561,762 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,660 คน รวม 6,402,564 คน ตายเพิ่ม 792 คน ยอดเสียชีวิตรวม 163,301 คน อัตราตาย 2.6%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 25,077 คน ยอดรวม 6,258,953 คน ตายเพิ่ม 60 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,158 คน อัตราตาย 1.8%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 84.11 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน ญี่ปุ่นระลอกห้าหนักขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเพิ่มอีกถึง 15,263 คน สูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา คาดว่าพรุ่งนี้ยอดติดเชื้อสะสมมีโอกาสจะทะลุล้านคน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านและอิรักติดกันหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง กัมพูชา ลาว จีน และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
สถานการณ์ของไทยเรา ตอนนี้มียอดติดเชื้อสะสมอยู่ที่อันดับ 39 ของโลก หากรวมยอดติดเชื้อใหม่ในวันนี้ จะแซงเซอร์เบียและสวิสเซอร์แลนด์ ขึ้นเป็นอันดับที่ 37 จากการระบาดที่ลามไปทั่วโลก เกือบสองปีที่ผ่านมา เราสามารถเรียนรู้จากบทเรียนต่างประเทศได้ว่า
หนึ่ง การต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 นั้น จะมีโอกาสสู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน พิสูจน์ได้ มาสร้างนโยบายและมาตรการต่างๆ ดังที่เรียกกันว่า "evidence-based policy making" ทั้งนี้ความรู้นั้นต้องเป็นมาตรฐานสากล มิใช่ความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรืออาศัยวิกฤติที่คุกคามชีวิตของประชาชนเป็นสนามทดลอง
สอง การควบคุมโรคของประเทศที่ทำได้ดีนั้น ทำมาตรการที่ก้าวล้ำนำการระบาด ดักโรคล่วงหน้า ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม เพราะวิ่งอย่างไรก็ไม่มีทางทัน ดังนั้นประเทศที่คุมได้ดีจึงมัก "Hit hard hit early" เหมือนเวลารักษาโรคเอดส์ แต่ประเทศที่ระบาดรุนแรงมักมาจากการดำเนินมาตรการควบคุมแบบวิ่งไล่ตามปิดโน่นนี่นั่นหลังจากมีการระบาดมากแล้ว จึงมักไม่ได้ผล จนเจ็บหนักเจ็บนานและยากต่อการฟื้นฟู ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม สูญเสียชีวิตมากมาย
สาม ประเทศที่แม้จะเคยมีความพลาดพลั้งบ้างแต่กลับมาควบคุมได้นั้น มักมีกลไกบริหารและวิชาการที่มีความรับผิดชอบสูง การตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาหนักหรือผลกระทบต่อประชาชน ก็มักออกมา "แสดงความรับผิดชอบ ลาออก ปรับเปลี่ยนให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขวิกฤติของประเทศได้อย่างทันท่วงที" แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อชีวิตของคน มากกว่าตำแหน่งหน้าที่ และเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ทำให้ยังคงได้ทั้งความเคารพนับถือจากประชาชนและการเคารพนับถือตนเอง
ในยามสงครามโรคระบาดที่รุนแรงเช่นนี้ การตัดสินใจเชิงนโยบาย และการดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อสาธารณชนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง หากตัดสินใจถูกต้อง ก็สร้างคุณประโยชน์ต่อทุกชีวิตในสังคม แต่หากไม่ถูกต้อง ก็มีโอกาสส่งผลให้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตมากมาย และเกิดผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในครอบครัว สูญเสียคนที่รัก สูญเสียเสาหลัก หมดเนื้อหมดตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันยาวนาน
การจะทำให้ถูกต้อง หรือลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดให้น้อยที่สุดได้นั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้เป็นแสงส่องทาง ให้เราเห็นว่าเราอยู่ตรงจุดไหน? ให้เราเห็นว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวเรานั้นเป็นอย่างไร? ให้เราเห็นว่าทางที่เรากำลังเดินอยู่นั้นอันตรายหรือไม่? ให้เราเห็นว่ามีทางเลือกอื่นที่จะให้เราเลือกเดินไปบ้างไหม? และให้เราเห็นว่าทางข้างหน้าที่เรากำลังมุ่งไปนั้นจะไปจบอย่างไร? เป็นทางตัน หรือทางออก? นี่คือความสำคัญของ"ความรู้"
แน่นอนว่า ความรู้นั้นต้องมีการนำส่ง โดยการนำส่งความรู้ ต้องชัดเจน โปร่งใส ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา และมีความกล้าหาญที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ไม่ยำเกรงต่ออำนาจหรือกิเลสรูปแบบต่างๆ ที่มาอยู่ตรงหน้า โดยมองเพียงเป้าหมายที่จะช่วยชีวิตของประชาชนจากภัยโรคระบาด เมื่อนั้นเราจะชนะศึกโรคระบาดนี้ได้ในที่สุด เป็นกำลังใจให้ทุกคน ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก ด้วยรักและห่วงใย"
Advertisement