วิธีการสังเกตอาการ เพื่อประเมินเบื้องต้นว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง ซึ่งการรักษาจะแตกต่างกันตามอาการ
ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการแตกต่างกัน เมื่อตรวจพบและยืนยันว่าติดเชื้อ หมอจะประเมินอาการผู้ป่วยโควิด แบ่งเป็น ผู้ป่วยสีเขียว สีเหลืองและสีแดง ที่การรักษาจะแตกต่างกันตามอาการ เช่น ผู้ป่วยสีเขียวสามารถแยกกักรักษาตัวที่บ้านแบบ Home Isolation ได้ ผู้ป่วยสีเหลืองต้องรักษาใน รพ.สนาม Hospitel หรือศูนย์พักคอยเพื่อรอส่งต่อ และผู้ป่วยสีแดงต้องส่งเข้า รพ.หลัก เป็นต้น
วิธีการสังเกตอาการ เพื่อประเมินเบื้องต้นว่าเป็นผู้ป่วยสีอะไร ดังนี้
• ผู้ป่วยสีเขียว
เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไอ/มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง มีไข้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถรักษาด้วยการแยกกักตัวรักษาที่บ้าน (Home isolation) โดยมีหมอประเมินอาการผ่าน Telemed จ่ายยาตามอาการ และติดตามอาการทุกวัน ถ้าผู้ป่วยที่ไม่สามารถแยกกักรักษาตัวที่บ้านได้ ให้แยกกักตัวในศูนย์พักคอยฯ (Community isolation) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
• ผู้ป่วยสีเหลือง
เป็นผู้ป่วยที่มีอาการ แน่นหน้าอก ปอดอักเสบ หายใจลำบาก เวียนหัว ไอแล้วเหนื่อย อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่านั้น บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ โรงพยาบาลหลัก หรือศูนย์พักคอย (Community isolation) ที่จะมีบุคคลากรทางการแพทย์ดูแลอาการอย่างใกล้ชิด
• ผู้ป่วยสีแดง
เป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หอบเหนื่อยรุนแรง แน่นหน้าอก หายใจเจ็บ อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลหลัก หรือโรงพยาบาลสนามที่มี ICU Modular ที่มีแพทย์ติดตามอาการใกล้ชิด
หมอจะประเมินอาการอย่างใกล้ชิดผ่าน Telemed หรือ การโทรติดตามอาการตลอดหากผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน แต่ท่านก็สามารถให้ญาติหรือประเมินด้วยตนเอง หากอาการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน เพื่อจะแจ้งหมอได้ทันที