ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 ให้จัดหา ผลิต ขาย นำเข้า ขออนุญาต-ออกใบอนุญาต ขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งในประ
วันที่ 26 ส.ค.2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 โดยมีรายละเอียดความว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นั้น
เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตซึ่งอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (2) (4) และมาตรา 14 (1) (4) และ (11) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 จึงออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 2 ในข้อบังคับนี้ “การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง การป้องกันหรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและในต่างประเทศ
ข้อ 3 ให้อธิการบดีเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ อธิการบดีอาจมอบหมายหรือมอบอำนาจ ให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล ทั้งในและต่างประเทศหรือผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยผู้ใดเป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนได้
ข้อ 4 การจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อบังคับฉบับนี้ ให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้อธิการบดีรายงานการดำเนินการตามข้อบังคับฉบับนี้ให้สภามหาวิทยาลัยทราบเป็นระยะ
ข้อ 5 ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ที่จำเป็น ที่มหาวิทยาลัยจัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การบริการทางวิชาการ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและการบังคับทางปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
ประกาศ ณ วันที่ 16 ส.ค.2564 ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้าราชการพ้นจากราชการ 3 คน
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ธนาคารทหารไทยธนชาต มีความสำคัญต่อระบบ D-SIBs
- ราชกิจจานุเบกษา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตำรวจ พระราชทานยศตำรวจชั้นนายพล 3 นาย