ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามสัญญากับ ซิลลิค ฟาร์มา นำเข้าวัคซีนโควิด-19 “โมเดอร์นา” จำนวน 8 ล้านโดส ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปี 2565
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชีย ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) จำนวน 8 ล้านโดส (100 ไมโครกรัม/โดส) สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปีหน้า โดยจะจัดสรรวัคซีนผ่านองค์กรนิติบุคคลประเภทต่างๆ ตามนโยบายข้อกำหนดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดว่าการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบได้ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 และจะทยอยส่งจนถึงไตรมาสที่สาม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหนึ่งใน 5 หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนภารกิจสำคัญในการยับยั้งและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด ผ่านการนำเข้า จัดสรร และกระจายวัคซีนตัวเลือกไปสู่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลเพื่อกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มุ่งเน้นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย”
“วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ลงนามสัญญานำเข้ามาเป็นวัคซีนตัวเลือกชนิดที่ 2 โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 สูงถึง 94.1% อาการข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง การแพ้รุนแรง พบประมาณ 2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโดส หรือรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีนชนิด mRNA พบได้น้อย อยู่ที่ 12 ราย ต่อ 1 ล้านโดสในประเทศสหรัฐอเมริกา และส่วนมากสามารถรักษาได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นของการใช้วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้น (Booster Dose ปริมาณขนาด 50 ไมโครกรัม) ต่อสายพันธุ์เบต้า แกมม่า และเดลต้า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 32 เท่า, 43.6 เท่า และ 42.3 เท่า ตามลำดับ ส่วนการวิจัยในประเทศไทยทางราชวิทยาลัยฯ จะทำควบคู่กันไปเพื่อยืนยันผลกระตุ้นอย่างเป็นระบบในสภาพแวดล้อมของประเทศตั้งแต่ปลายปีนี้ ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีแผนที่จะจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาให้แก่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถานพยาบาล ตลอดจนกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นกลุ่มแรกก่อน เนื่องจากประชาชนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นต้นมา โดยเป็นทางเลือกอีกตัวหนึ่งที่จะใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฉีดเพียง 1 เข็ม (ปริมาณ 50 ไมโครกรัม) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งจัดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น โดยจะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลประเภทต่างๆ ได้ยื่นจองขอรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาในช่วงเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขาย พร้อมประกันภัยคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป และคาดว่าการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบวัคซีนได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคมปีหน้า”
“สำหรับความร่วมมือกับ ซิลลิค ฟาร์มา ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญและความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด และขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ ตามพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ กล่าวเสริม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเฉลิมชัย อ้างผลวิจัยวัคซีน mRNA ชี้ ผู้ชายควรฉีด ไฟเซอร์ ผู้หญิงควรฉีด โมเดอร์นา
- ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิด หญิงตั้งครรภ์ 1 เดือน 1 แสนราย ชวนพ่วงฉีดไข้หวัดใหญ่ด้วย
- รพ.ภูมิพลฯ เปิด Walk-in ฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 กลุ่มเสี่ยง