จากกรณีโลกออนไลน์วิพากวิจารณ์การประมูลโครงการติดตั้งรั้วราวสแตนเลสกันตก ที่ชานชาลารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มูลค่า 13 ล้านบาท ทั้งหมด 7 สถานี ซึ่งไม่รวมสถานีสุวรรณภูมิ เพราะมีกำแพงกระจกกั้นอยู่แล้ว รวมระยะทาง 2.296 กิโลเมตร พร้อมทั้งงานแผ่นสแตนเลส 720 แผ่น และแผ่นเตือนภัยสแตเลส 560 ป้าย อีกทั้ งค่าขนส่งทั้งหมด ซึ่งสังคมกล่าวถึงความเหมาะสมกับราคาดังกล่าวนั้น
วันที่ 19 ต.ค. 61
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า แอร์พอร์ตลิงก์มีแผนการติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน ใน 7 สถานี ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท ยกเว้นสถานีสุวรรณภูมิ โดยประมูลติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแต่ต้องยกเลิก เนื่องจากมีผู้ผ่านประมูลรายเดียว ประกอบกับมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปี และรูปแบบสถานีของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะต้องเปลี่ยนไปรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งมีขนาดความกว้างของตัวรถไฟฟ้ามากกว่า
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน บริษัทจึงปรับรูปแบบการดำเนินงานเป็นการติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสแตนเลสคล้ายรถไฟชินคันเซ็นของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด โดยบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหนังสือรับรอง และจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด 13,456,900 บาท
นอกจากนี้ ที่สถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีพญาไท ซึ่งเป็นสถานีแรกที่เริ่มการติดตั้งแผงรั้วกั้นบริเวณทางขึ้นบนชานชาลา ซึ่งพบว่าเริ่มมีการติดตั้งแล้ว แต่ติดตั้งได้เพียง 1 ฝั่งเท่านั้น และเป็นฝั่งที่ปิดให้บริการกับประชาชน ฝั่งที่ประชาชนใช้งานจริงยังไม่มีการติดตั้งแต่อย่างใด
โดย
น.ส.มนัสนันท์ เพิ่มพูนภัทร ผู้โดยสารที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำ เปิดเผยว่า ตนทราบข้อมูลเรื่องการติดตั้งแผงเหล็กกั้นแนวชานชาลาแล้ว โดยเห็นในเฟซบุ๊กแชร์ต่อกัน ส่วนตัวมองว่ามูลค่าการติดตั้ง 13 ล้านบาทกับวัสดุที่ทำและก่อสร้างทุกสถานี คิดว่าไม่แพงเกินไปและไม่ได้ถูกเกินไป เนื่องจากตนไม่ทราบว่าราคาวัสดุที่นำมาใช้ทำนั้นแพงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการนำแผงเหล็กมาติดตั้งเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่เห็นว่าควรใช้กระจกที่มีประตูกั้นทางขึ้นลงมากกว่า เพราะส่วนใหญ่จุดที่ผู้โดยสารยืนรอ ก็จะเป็นจุดที่เว้นว่างไว้ ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ก็เคยเห็นการคนเป็นลม หมดสติจนตกลงไปที่รางรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตกจากจุดที่ยืนคอยขึ้นรถ ดังนั้นแผงเหล็กนี้ก็ยังไม่ปลอดภัย 100%
อย่างไรก็ตาม ที่มีการระบุว่าในประเทศญี่ปุ่นมีการติดตั้งแผงเหล็กลักษณะใกล้เคียงกัน รูปแบบคล้ายกัน ส่วนตัวคิดว่าพฤติกรรมและพื้นฐานของคนไทยแตกต่างจากคนญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่นพลเมืองค่อนข้างมีระเบียบมากกว่า ทำให้สามารถใช้แผงเหล็กก็เพียงพอ นอกจากนี้ สถานีอื่น เช่น อย่างมักกะสัน ราชปรารภ ยังไม่พบการติดตั้งแผงเหล็กดังกล่าว ประชาชนยังคนยืนรอแน่นชานชาลา โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานีดูแลตามปกติ