ถือเป็นโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับวันพรุ่งนี้(30 ก.ย.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยปมครบวาระ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่มากว่า 1 เดือน โดยหลังจากนี้จะเหมือนแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะพ้นตำแหน่งไปในวันพรุ่งนี้ แต่เหมือนหล่มทางการเมืองยังคงมีมากมายจากผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2560
ทั้งนี้ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์ถึงแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้
เชื่อว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาเป็น 2 แนวทางหลักๆ
ซึ่งแนวแรกก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อม ครม.ยกชุด โดย นับจาก 24 ส.ค.2557
ส่วนแนวทางที่ 2 คือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ซึ่งแนวทางนี้จะมีการนับตั้งแต่ 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หรือนับตั้งแต่ปี 2562 หลังจากการเลือกตั้ง วันที่ 9 มิถุนายน 2562
และ แม้กระทั่งที่ศาลอาจจะไม่ได้พูดถึงวิธีการนับเลย โดยอาจบอกแค่ประเด็นคำร้องของฝ่ายค้านว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ไหม และทิ้งไว้เป็นประเด็นข้อกังขาของสังคมต่อไป
"ซึ่งถ้าพูดกันในข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่เกิน 8 ปีแล้วด้วยซ้ำ แต่ในทางกฎหมาย ทางฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องหยิบยกการตีความกฎหมายอีกอย่างหนึ่งเข้ามาต่อสู้เพื่อแก้ต่าง แต่ศาลจะฟังหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง
ซึ่งจะมีทั้ง ศึกนอก ศึกใน ที่ "บิ๊กตู่" ต้องเผชิญ หากศาลตัดสินให้อยู่ต่อ เพราะวันนี้ต้องบอกว่าในหน้าการเมืองแทบจะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกระแสครบวาระนายก 8 ปี ก็อาจจะไม่ได้แรงเท่าเดือนที่แล้ว และเป็นการเมืองที่ก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว แต่กลับกลายเป็นชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี กลับถูกพูดถึงมากกว่า รวมไปถึงพรรคการเมืองที่เปิดตัวใหม่กันก็ไม่มีใครพูดถึงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เลย"
สะท้อนภาพว่ากระบวนการก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การเดินต่อไปทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถือว่าไม่ง่ายเลย" รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลายคนจับตาคือ การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า เรื่องม็อบก็คงมีอยู่แล้ว เพราะบางกลุ่มก็เคลื่อนไหวตลอด เช่น ม็อบของนายจตุพร พรหมพันธ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ แต่แนวโน้มที่จะขยายเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะแนวร่วมการเคลื่อนไหวไม่ได้มีมาก รวมไปถึงข้อจำกัดกฎหมาย
ซึ่งหากศาลตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ไปต่อ กระบวนการต่อไปที่ต้องจับตานั้น คือการเลือกนายกฯรัฐมนตรีคนใหม่ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาทั้ง ส.ส.และส.ว.
" พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังอยู่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี แม้ศาลตัดสินว่าไม่ได้ไปต่อ ต่อมาก็ต้องนำไปสู่ การเลือกนายกฯรัฐมนตรีคนใหม่ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาทั้ง ส.ส.และส.ว. แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเลือกภายในกี่วัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในฝ่ายบริหาร ซึ่งประธานสภาฯ ก็ต้องเรียกประชุมและเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตที่เหลือในบัญชี อาทิเช่น คุณอนุทิน คุณหญิงสุดารัตน์ คุณชัชชาติ คุณชัยเกษม คุณอภิสิทธ์ จะต้องถูกเลือกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.รวมกันประมาณ 366 เสียงขึ้นไป แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องไปสู่การปลดล็อกนายกฯ นอกบัญชี โดยต้องอาศัยเงื่อนไขเสียง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพื่อยื่นญัตติปลดล็อก ต่อมาคือใช้เสียง ส.ว. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อเสนอชื่อ
จะเห็นได้ว่าข้้นตอนยุ่งยากและไม่ง่าย ในการที่จะเสนอชื่อ "พล.อ.ประวิตร"เข้ามา และถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ "ประยุทธ์" ก็ต้องอยู่รักษาการต่อ"
นอกจากประเด็นเรื่องนายกฯ แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง ครม.ด้วย ถ้าหากศาลวินิจฉัยว่า "ประยุทธ์" ไม่ได้ไปต่อ ครม.ก็ต้องพ้นสภาพไปด้วย
"สิ่งที่จะเป็นข้อกังขาตามมา คือ คำสั่งของ ครม.ตั้งแต่ 24 ส.ค.เป็นต้นมา คำสั่งทั้งหมดจาก ครม.ที่ออกมา จะมีผลอย่างไรต่อ เพราะ ครม.ไม่ได้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคดีนี้ ต้องรอฟังคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี “นายกฯ 8 ปี” ในเวลา 15.00 น. วันที่ 30 ก.ย. นี้ " รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย
Advertisement