เรืองไกร ขยี้อีก ยกคำพิพากษาศาลฎีกา ส่ง ป.ป.ช. ตรวจสอบ นายกฯอิ๊งค์ ชู มินิฮาร์ท ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 หรือไม่
วันที่ 11 ก.ย. 67 นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า กรณีที่ร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่นั้น
กรณีตามคำร้อง ทำให้มีการแสดงความเห็นไปต่างๆ นานา โดยขาดองค์ความรู้ไม่เข้าใจคำที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งทุกคำที่กำหนดขึ้นในมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเฉพาะคำว่า “ระเบียบแบบแผนของทางราชการ” เป็นคำที่มีการใช้ในการวินิจฉัยคดีของศาลยุติธรรมมาแล้วหลายสิบคดี
นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังทำให้ สส.พรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง ที่อาจจะอยากเอาใจนายกฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้สำบัดสำนวนแสดงความเห็นแบบเจ้าบทเจ้ากลอน มิได้อ้างอิงลายลักษณ์อักษรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแต่อย่างใด ซึ่งการสู่รู้ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว อันอาจเป็นเหตุให้นายกฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะคิดว่าคำร้องกรณีดังกล่าวไม่มีสาระ และหลงประเด็นที่จะแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ในโอกาสต่อไป
นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้ ป.ป.ช. มีแนวทางเพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบเพิ่มเติมตามคำร้องที่อ้างถึง 1. เกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 21 ในส่วนของคำว่า “ระเบียบแบบแผนของทางราชการ” และให้ ป.ป.ช. แจ้งให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป จึงขอคัดแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยใช้คำดังกล่าวในคำพิพากษาศาลฎีกา มาเป็นตัวอย่างให้ ป.ป.ช. นำไปพิจารณาประกอบ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1109/2530 ศาลวินิจฉัยไว้บางส่วนดังนี้
“... เห็นว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการบริหารราชการตามที่กระทรวงทบวงกรมมอบหมายซึ่งได้กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 53 (1) (2) ถือไม่ได้ว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้สั่งให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเสนอเรื่องเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเสียก่อนนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการแต่อย่างใด และทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่าได้มีระเบียบของทางราชการกำหนดวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับคำขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ที่ต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 อย่างใด
ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 รับเรื่องราวการขอเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองแร่ของโจทก์แล้วทำบันทึกเสนอขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ยังไม่ส่งเรื่องราวดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งการโดยตรง จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการ และการที่ผู้ถือประทานบัตรจะขอเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการ และเงื่อนไขจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีก่อน ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 57 นั้น กฎหมายก็มิได้บังคับว่าอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีจะต้องอนุญาตเสมอไปหากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเพื่อแจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่า หากจะเปิดทำการเหมืองแร่จะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อตกลงใจของนายกรัฐมนตรี และมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งตัดสินใจให้นโยบายไว้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติหาเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว หรือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใดไม่ ...”
ข้อ 2. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3669/2531 ศาลวินิจฉัยไว้บางส่วนดังนี้ “เห็นว่าคดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้นเป็นคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงิน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้ และทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องได้”
นายเรืองไกร สรุปว่า วันนี้ จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง ป.ป.ช. เป็นการเพิ่มเติมคำร้องครั้งที่ 1. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. นำตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีข้างต้น ไปใช้ประกอบการตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ และต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตาม มาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่
Advertisement