ตามเหตุการณ์เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล สมาชิกพรรคพลังประชาชนได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองโดยการประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องประเทศจากกองกำลังคอมมิวนิสต์จากฝั่งเหนือ ซึ่งเป็นเหมือนการรัฐประหารตนเอง เฉกเช่นเดียวกับกรณีของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ประกาศรัฐประหารตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2514 แต่โชคดีที่การยึดอำนาจในเกาหลีใต้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนเกาหลีใต้ออกมาต่อต้านและพรรคการเมืองกล้าหาญออกมาทำหน้าที่
แม้ว่ารัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ให้อำนาจประธานาธิบดีออกกฎอัยการศึกได้ แต่ให้รัฐสภาสามารถคานอำนาจนี้ได้โดยมติเสียงข้างมาก โดยสมัชชาแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้ประชุมโหวตคว่ำกฎอัยการศึกด้วยคะแนน 190 เสียง ต่อ 0 เสียง จึงทำให้ประธานาธิบดีประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในเวลาต่อมาในช่วงเช้าวันนี้ ยุติการยึดอำนาจ 6 ชั่วโมงโดยมิชอบและทำลายระบบประชาธิปไตยเนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึกยึดอำนาจนั้นเป็นเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สมาคมมิตรภาพประชาชนไทย-เกาหลี และภาคประชาชนไทยตามรายชื่อองค์กรท้ายนี้ ขอชื่นชมและส่งกำลังใจให้พี่น้องเกาหลีใต้ที่ออกมาชุมนุมต่อต้านจนสามารถยับยั้งการยึดอำนาจโดยมิชอบครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว และชื่นชมพรรคการเมืองของเกาหลีใต้ที่กล้าหาญออกมาคัดค้านและเดินทางเข้าไปออกเสียงลงมติแม้ว่าจะโดนกองทัพส่งทหารเข้ายึดรัฐสภาและปิดกั้นไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้เข้าถึงรัฐสภาเพื่อยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึก
ภาคประชาชนไทยเห็นว่า การกระทำของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นเรื่องน่าอับอายและเข้าข่ายเป็นกบฏ จึงสมควรลาออกจากตำแหน่ง และต้องการมีกำหนดโทษต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้นำกองทัพที่นำกำลังทหารเข้ายึดรัฐสภาเพื่อหวังปิดกั้นไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเกาหลีลงมติคัดค้านการใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึกโดยมิชอบ และสกัดกั้นการเดินทางของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
การประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุดของเกาหลีใต้เกิดขึ้นมากว่า 45 ปี ในปี 2522 ซึ่งนำมาสู่การต่อต้านของประชาชนและเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในเมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม 2523 โดยข้ออ้างคล้ายคลึงกันในการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้คือ การกล่าวหาพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ชนะเสียงข้างมากในการเลือกตั้งเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าเข้าข้างเกาหลีเหนือและดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐ
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันดีทั้งกับเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ และมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ส่งเสริมมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีของประชาชนทั้งสองชาติเรื่อยมา ภาคประชาชนไทยจึงขอสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ด้วยความสมานฉันท์ (Solidarity) และขอสนับสนุนนโยบายส่งเสริมสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี โดยปราศจากการแทรกแซงของมหาอำนาจภายนอก เพื่อยุติสถานการณ์ตรึงเครียดในภูมิรัฐศาสตร์โลกยุคใหม่เหมือนนโยบายในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีคนก่อนที่ผ่านมา
4 ธันวาคม 2567
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) – Campaign for Popular Democracy [CPD.]
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 – The Relatives Committee of May 1992 Heroes
สถาบันสังคมประชาธิปไตย – Social Democracy Think Tank
สมาคมมิตรภาพประชาชนไทย-เกาหลี – Thai-Korean Friendship Association
คณะทำงานสันติภาพโลก – World People Peace Working Group, Thailand
Advertisement