วันนี้ (18ธ.ค.67) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ มีนายวันมอหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการเปิดให้สส.หารือเรื่องเดือดร้อนประชาชน ต่อด้วย การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ต่างๆที่คณะกมธ.พิจารณาเสร็จแล้วหลายฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร ร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกมธ.ของสภาฯและวุฒิสภา
จากนั้นเวลา 17.20 น. ที่ประชุมที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยยืนยันใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
โดยน.ส.ลิณธิภรณ์ วรินวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะเป็นระบบ 2มาตรฐาน แปลกแยกจากระบบที่เป็นอยู่ ในเมื่อระบบการลงคะแนนเสียงที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การใช้เสียงข้างมากปกติโดยตรงจึงเป็นสิ่งสมควร ตนไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นให้ยุ่งยาก กีดกันเสียงแท้จริงของประชาชนออกไป เพื่อความเสี่ยงต่างๆ เช่น การรณรงค์ของผู้ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ แม้อาจมีจำนวนน้อยกว่า แต่เมื่อพิจารณาสิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามด่านพิสดารเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็อาจทำให้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิตามกระบวนการถูกบิดเบือนไปได้ เว้นแต่ผู้สนับสนุนเสียงข้างมาก2ชั้น ปรารถนาลึกๆในใจให้การใช้สิทธิของประชาชนยากขึ้น พูดง่ายๆว่าใครที่สนับสนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจถูกครหาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญปี2560
ด้านนายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า ฝ่ายสภาฯควรยืนยันตามหลักการเดิม คือการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ไม่ใช่เสียงข้างมาก 2 ชั้น และไม่ใช่ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายแก้เสร็จแล้วแล้วแก้กลับไปเป็น 2 ชั้นอีก จะใช้แบบชั้นเดียวก็ตามนั้นไปเลย ไม่ใช่เวลาจะรับใช้ชั้นเดียว แต่เวลาจะแก้ใช้ 2 ชั้น
ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตอนฉีกรัฐธรรมนูญง่ายแสนง่าย เงียบสงัดเหมือนป่าช้า แล้วสร้างประติมากรรมคือรัฐธรรมนูญปี60 ที่มีปัญหาคือเวลาจะแก้ไขทำได้ยากยิ่ง ยากเกินไป แบบไม่อยากให้แก้ไขเลย ดังนั้นเมื่อความเห็นของสส. และสว.ไม่ตรงกัน ในเรื่องหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก ทำให้ต้องพักไว้ 180 วัน มันเสียเวลา จนทราบมาว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไม่ทันในสมัยนี้ ถามว่าใครเป็นจำเลยในสังคมนี้ ประชาชนต้องหาจำเลยให้ได้ สส.ไม่ใช่จำเลย แต่อีกสภาฯใช่หรือไม่ ก็ต้องใช้วิจารณญาณ ตนผิดหวังที่อยู่ๆกมธ.ร่วมฯฝ่ายสส.ไปงดออกเสียง ถือว่ากลับลำในสิ่งที่ตัวเองเคยลงมติใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว ในชั้นกมธ.สภาฯ และทราบว่าครั้งนี้ก็จะงดออกเสียงอีก มันไปบั่นทอนอำนาจสูงสุดของประชาชน ไปร่วมกับสว. ที่เป็นสภารากฝอยได้อย่างไร
”พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แถลงนโยบายด้วยกันก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามนี้แล้วจะลงเรือลำเดียวกันได้อย่างไร ผมรู้ว่าคุณขวางเพื่อถ่วงไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันแก้ยากอยู่แล้ว หรืออยากจะให้มีตะแล้นแต๊นแต๊นอีก สภาฯแห่งนี้ตั้งอยู่ถนนทหาร เรือรบ1ลำ รถถัง1คันยึดได้แล้วสภาฯแห่งนี้ ทำไมไม่โน้มจิตใจด้วยกันมาแก้รัฐธรรมนูญ เห็นแก่ชาติบ้านเมืองเถอะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งอยู่นานยิ่งเป็นอันตรายต่อสังคม เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นหมด การเมืองทั้งหมด ขอให้กมธ.ร่วมฯฝ่ายสส.ที่กลับลำ กลับใจมาแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เถอะ ที่นี้เป็นที่แก้ไข ไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญของประชาธิปไตย ใครคนใดไม่แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือถ่วงความเจริญ ผมถือว่าคนนั้นทำลายประชาธิปไตย“ นายอดิศร กล่าว
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า หลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำให้ง่าย เป็นธรรม แบบชั้นเดียว แต่สว. หรือกมธ.ร่วมกันฯ จะมาให้ฝ่ายสส.ที่เคยลงมติ409เสียงเห็นด้วยกับเสียงข้างมากชั้นเดียว ในชั้นกมธ.สภาฯ มาเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก2ชั้นตามร่างฯของวุฒิสภาไม่ได้ เราต้องยืนยันเพื่อยับยั้ง มีคนถามตนว่า หากรัฐบาลผสม มีพรรคๆหนึ่งไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้จะทำอย่างไร ตนก็ตอบไปว่าต้องคุยกันใหม่ คุยกันเรื่อยๆจนจบ หวังว่าจะต้องคุยกัน หากมีปัญหาขึ้นมา ชาวบ้านจะตัดสินว่าพรรคเหล่านั้นที่บอกว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดีแต่พูด ประชาชนจะสั่งสอนในการเลือกตั้งปี2570 ดังนั้นอย่าพูดเอาหล่อ ขณะนี้บ้านเมืองมันแย่จริงๆ ก็ขอให้สส.ทำเพื่อประชาชน ทำตามกฎหมาย ช่วยกันลงมติเพื่อยับยั้งแล้วรออีก 180 วันค่อยมาว่ากันอีกครั้ง
นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวอภิปรายว่า หากเราไม่มีเกณฑ์ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในการทำประชามติ เราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่านี่คือการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราจะได้รับการยอมรับจากคนไทยทั้งประเทศจริงๆหรือไม่ ว่ามันเป็นการตัดสินใจที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากเพียงพอ หรือเรากำลังเปิดช่องให้เสียงส่วนมากมีโอกาสโดนมองข้ามเพียงเพราะคำว่าง่ายหรือไม่ พรรคภูมิใจไทย ยึดถือเกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้น ตนตกใจว่ามีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวเท่านั้นที่รู้สึก ทั้งๆที่เรามีคะแนนเสียงเป็นอันดับ4 ยืนยันว่าแม้เราจะเห็นต่าง แต่เราไม่ได้ยึดติดโดยไม่มีหลักการเหตุผล เราไม่ได้ไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจในความเห็นต่างของเพื่อนสมาชิก
“พรรคภูมิใจไทยมีการส่งคำถามจากเพื่อน สส.ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสอบถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ ผลตอบรับกลับมาประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหตุผลง่ายนิดเดียวคือทุกเรื่องที่ต้องทำประชามติล้วนเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนจึงต้องการความมั่นใจว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มีปริมาณเพียงพอที่จะมีความน่าเชื่อถือ” นายไชยชนก กล่าว
กระทั่งเวลา 20.25 น. ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติโหวตไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 326 ต่อ 61 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา137 (3) และมาตรา138(2) กำหนดว่า ร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งจะพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้นเวลา 180 วัน นับแต่ที่สภาฯไม่เห็นชอบ จากนั้นประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 20.30 น.
Advertisement