Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
วันมาฆบูชา 2567 ประวัติวันมาฆบูชา ความหมาย และ ความสำคัญของวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา 2567 ประวัติวันมาฆบูชา ความหมาย และ ความสำคัญของวันมาฆบูชา

6 มี.ค. 66
06:23 น.
|
3.9K
แชร์

วันมาฆบูชา ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567

วันมาฆบูชา เดิมเรียกว่า วันมาฆปุณณมี หมายถึง วันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวงในเดือนมาฆะ ส่วนมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เกิดเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต

ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

ความหมายวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา

ความสำคัญวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา มีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ได้แก่

• พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย

• พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือ เป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

• พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุอรหันต์แล้ว

• เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง เสวยมาฆฤกษ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา นั่นคือ โอวาทปาติโมกข์

การเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
- จาตุร แปลว่า 4
- องค์ แปลว่า ส่วน
- สันนิบาต แปลว่า ประชุม

ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง ทั้งนี้ วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

Advertisement

แชร์
วันมาฆบูชา 2567 ประวัติวันมาฆบูชา ความหมาย และ ความสำคัญของวันมาฆบูชา