จากกรณี รัสเซีย เปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตี ยูเครน เมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้หลายชาติออกมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหลายรายการ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 25 ก.พ.65 พบว่าแต่ละชาติ ได้มีมาตรการดังนี้
สหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศชุดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียและรัฐวิสาหกิจสำคัญทำธุรกิจและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านสถาบันการเงินและการใช้เงินตราสกุลหลักๆ ของโลกได้ยากลำบากมากขึ้นในระยะยาว ถึงแม้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตัวประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยตรงก็ตาม
สหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตร ต่อ สเบอร์แบงก์ (Sberbank) และวีทีบี (VTB) สถาบันการเงินขนาดใหญ่ 2 อันดับแรกของรัสเซีย ซึ่งมีรัฐบาลมอสโกเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงธนาคารใหญ่ของรัสเซียอีก 3 แห่งคือ Otkritie Novikom และ Sovcom ไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ในสหรัฐได้ อย่างไรก็ดียังไม่มีการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT
นอกจากนี้ ยังได้ระงับการส่งออกด้านเทคโนโลยี ขิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องบินและเซมิคอนดักเตอร์ และห้ามไม่ให้ 13 ธุรกิจสำคัญของรัสเซียมาระดมทุนในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง ก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานรายใหญ่ และการทางรถไฟรัสเซีย
สหภาพยุโรป (อียู)
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลีเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ได้เปิดเผยถึง มาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อรัสเซีย ซึ่งเชื่อว่า "จะส่งผลกระทบสูงสุดต่อเศรษฐกิจรัสเซียและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล"
มาตรการคว่ำบาตร ครั้งนี้จะพุ่งเป้าไประบบเศรษฐกิจของรัสเซีย ภาคพลังงาน การขนส่ง ภาคการส่งออกและข้อตกลงการค้ากับรัสเซีย รวมถึงการจำกัดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งรวมถึง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ด้านการบินอีกด้วย
อียู ตั้งเป้าคว่ำบาตร 70% ของธนาคารและรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย รวมถึงอายัดทรัพย์สินชาวรัสเซียในสหภาพยุโรป และปิดกั้นไม่ให้ธนาคารรัสเซียเข้าถึงตลาดการเงินในยุโรป
อังกฤษ
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ระบุว่า สหราชอาณาจักรจะคว่ำบาตรธนาคารสัญชาติรัสเซีย จำนวน 5 แห่ง และบุคคลสำคัญที่มีบทบาททางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จำนวน 3 คน โดยทรัพย์สินใดๆ ที่ธนาคารของรัสเซียถือครองในสหราชอาณาจักรจะถูกสั่งอายัด และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ รวมถึงมีการสั่งห้ามไม่ให้บุคคลหรือหน่วยงานสัญชาติสหราชอาณาจักรทั้งหมดติดต่อกับผู้ที่ถูกคว่ำบาตร
มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ถือเป็นขั้นแรกของการตอบโต้ที่สหราชอาณาจักรเตรียมดำเนินการไปพร้อมๆ กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอีก
ญี่ปุ่น
ประธานาธิบดีฟูมิโอะ คิชิะดะ ประกาศว่าญี่ปุ่นจะดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียร่วมพันธมิตรในกลุ่มประเทศ G7 โดยจะเน้นไปที่มาตรการทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งได้มีการอายัดทรัยพ์สินของสถาบันการเงินของรัสเซียและพลเมืองรัสเซียบางราย รวมถึงระงับการส่งออกแก่กองทัพรัสเซีย
ออสเตรเลีย
นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียพิ่มเติม โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งมีบทบาทด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลมอสโก รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัสเซีย หรือ สภาดูมา อีก 300 คน
ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางของชาวรัสเซีย รวมถึงอายัดทรัพย์สินของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงรัสเซีย 8 คน และขึ้นบัญชีดำธนาคารบางแห่งของรัสเซีย
นิวซีแลนด์
นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาเดิร์น ประกาศ ระงับข้อตกลงทางการค้าทั้งหมดกับรัสเซียอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงระงับการส่งออกสินค้าแก่กองกองทัพและกองกำลังความมั่นคงของรัสเซีย และห้ามเจ้าหน้าที่รัสเซียเดินทางเข้าประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดที่มา สงครามรัสเซีย ยูเครน ที่อาจเป็นชนวนร้อนไปทั่วโลก
- ประธานาธิบดี ยูเครน ยืนยันไม่หนี แม้เป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของ รัสเซีย
- ชาวรัสเซีย ออกมาประท้วงต้านสงคราม ถูกตำรวจจับกุมแล้ว 1,400 คน
Advertisement