สธ. ปรับวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จาก "กักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน" เป็น "กักตัว 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน"
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำความสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น และใช้มาตรการ 2 U เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อช่วงเทศสงกรานต์ ด้านที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบอนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 4 ประเด็นสำคัญ และรับทราบการปรับวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จาก "กักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน" เป็น "กักตัว 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน"
วันนี้ (11 เมษายน 2565) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมประชุมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
นายอนุทินกล่าวว่า เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ขอย้ำความสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น และขอความร่วมมือประชาชนใช้มาตรการ 2U เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อโควิด 19 คือ Universal Prevention สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เมื่อใกล้ชิดผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง รวมทั้งงดรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงการดูแลตนเองให้ปลอดความเสี่ยงติดเชื้อ (Self clean-up) ก่อนกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และ Universal Vaccination ทุกกลุ่มอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ให้โรงพยาบาลและรพ.สต.ในพื้นที่เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับผู้สูงอายุและลูกหลานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิต
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในทุกจังหวัดแต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล มีอัตราครองเตียงประมาณ 30% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสที่จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด รวมถึงจัดหาเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันชนิดออกฤทธิ์ยาว หรือ Long acting antibodies สำหรับฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยงและมีภูมิคุ้มกันต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจนมีอาการหนักด้วย
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ภาพรวมไปแล้วกว่า 130 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 80 % เข็มที่สอง 73 % และเข็มที่สาม 35 % แต่ยังมีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยติดเตียงจำนวนหนึ่งที่เดินทางไม่สะดวกทำให้ยังไม่ได้รับวัคซีน ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ “Save 608 by booster dose” เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ โดยให้เจ้าหน้าที่ร่วมกับอสม.ออกสำรวจ และให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกถึงบ้านโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน และการบริหารจัดการโรคติดต่อ ทั้งการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบอนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ พ.ศ. ... และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย พ.ศ. ...
2.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. ... และร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคระบาด พ.ศ. ... โดยให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามที่กำหนดในระเบียบนี้
3.ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... และ
4.ให้ขยายกรอบระยะเวลาแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ หรือโรคระบาด พ.ศ. 2562-2564 ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 (สิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ
1.คณะกรรมการด้านวิชาการฯ มีมติเห็นชอบให้ลดวันกักตัวสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จาก “กักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน” เหลือ “กักตัว 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน”
2.ในปี 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสามารถจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2562 - 2564 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากกรณีวัคซีนขาดชั่วคราวได้จำนวนประมาณ 8 แสนโดส และ
3.คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติเกี่ยวกับการให้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และขยายการให้บริการวัคซีน IPV เป็น 2 เข็มในเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน และวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) จำนวน 3 ครั้ง ที่อายุ 6 เดือน 1.5 ปี และ 4 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หมอมนูญ เผย รับวัคซีนครบโดสยังมีโอกาสติดโควิด โอมิครอน 2 ครั้งใน 1 เดือน
-โควิดวันนี้ 11 เม.ย.65 ป่วยใหม่ 22,387 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) 15,187 ราย เสียชีวิต 105 คน
-ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด สปสช. แนะให้ทำขั้นตอนตามนี้
Advertisement