"เห็ดขี้ควาย" หรือ “สุขไสยาสน์” สมุนไพรบำบัดในอดีตที่ต้องโทษเป็นสารเสพติดในประเทศไทยเพราะอันตราย อนาคตอาจใช้รักษา “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”
เห็ดขี้ควาย เห็ดเมา เห็ดพิษ สุขไสยาสน์ เห็ดวิเศษ หรือ Magic Mushroom ต่างเป็นชื่อเรียกของสิ่งเดียวกันก็คือ "เห็ดขี้ควาย" ที่ประเทศไทยจัดให้เป็น ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจาก ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าวต่างมีสาร psilocybine หรือ psilocine ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน
“สุขไสยาสน์” เป็นชื่อเรียกของหมอโบราณที่มักนำเห็ดขี้ควายมาใช้เป็นสมุนไพรและรักษาโรคเช่น ช่วยให้นอนหลับดี ถอนพิษไข้ แต่หากเสพมากจะเมา ประสาทหลอน อาการคล้ายกับ LSD จึงมีชื่อว่า “ยาสุขไสยาสน์”
เห็ดขี้ควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing วงศ์ Strophariaceae จะมีหมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน
เห็ดขี้ควาย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง
ถึงแม้ว่าเจ้า "เห็ดขี้ควาย" จะเป็นที่รู้จักในนามของเห็ดพิษ แต่ก็ยังมีผู้คนบางกลุ่มนำเจ้าสิ่งนี้มาใช้ในการปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติในการรับปารทานคล้ายกับการใช้ "กัญชา" อีกด้วย โดยเมนูที่มักจำถูกนำมาปรุงคือ ไข่เจียวเห็ด หรือ จะย่างเกลือก็ได้ อีกทั้งยังใช้ผสมในเครื่องดื่มเพื่อเสพ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอาการเมา ประสาทหลอน หากเสพเข้าไปมากเกิน
เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
นิตยสาร Newsweek ได้ตีข่าวเรื่องราวการจดสิทธิบัตรขั้นตอนการสกัดสาร Psilocybin และ Psilocine ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่คล้ายกับสาร Serotonin ของ “อเมริกา” ซึ่ง วงการยาสหรัฐฯ ได้มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจาก “เห็ดขี้ควาย” มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 แล้ว
ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ระบุว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Imperial College London ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษา “เห็ดขี้ควาย” ในวารสาร Scientific Reports ระบุว่า ทีมงานได้ลงมือวิจัยกับกลุ่ม “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” จำนวน 19 คน โดยได้ให้ Psilocybin ซึ่งสกัดจาก “เห็ดขี้ควาย” 1 ครั้งแก่ผู้ป่วยทุกคน จากการ Scan ลักษณะการทำงานของสมองผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา 1 วัน พบว่า ผู้ป่วยไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่เลย หลังสร่างเมาจากยา
ศาสตราจารย์ ดร. Robin Carhart-Harris หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Imperial College London บอกว่า “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ที่รับยาดังกล่าว ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่สมอง 2 ส่วน คือ Amygdala ที่มีภารกิจจัดการกับความกลัว และวิตกกังวลกับส่วนเครือข่ายประสาทอัตโนมัติ ที่จะทำงานก็ต่อเมื่อสมองมีการพักผ่อน หรือ Default-Mode Network: DMN โดยสมองทั้ง 2 ส่วน พบความเสถียรขึ้น หลังได้รับยาดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร. Robin Carhart-Harris กระชุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการ Scan พบว่า สมองบางส่วนได้มีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปอีกด้วย
ทั้งนี้เนื่องเพราะ “สารออกฤทธิ์หลอนประสาท” ใน “เห็ดขี้ควาย” สามารถช่วย “ปรับสภาพ” และ “จัดระเบียบสมอง” ของ “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรง” ให้มีอาการดีขึ้นได้! ผลการวิจัยนี้ คือความหวังในการรักษาโรคทางจิตเวชต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า ที่ระบุว่า Psilocybin ที่สกัดจาก “เห็ดขี้ควาย” คือ “สารหล่อลื่นทางจิตประสาท” ที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการ “ซึมเศร้า” ได้
ศาสตราจารย์ ดร. Robin Carhart-Harris กล่าวต่อไปอีกว่า โดยปกติ “สมอง” ของ “ผู้ป่วยซึมเศร้า” นั้น มักอยู่ในภาวะปิดตัว-ไม่ตอบสนอง แต่หลังได้รับสารสกัดจาก “เห็ดขี้ควาย” แล้ว “ผู้ป่วยซึมเศร้า” หลายรายบอกว่า พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่า “สมอง” ได้รับพลังงานไฟฟ้า ที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดการจัดระบบระเบียบใหม่ หรือถูก Reset ให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร. Robin Carhart-Harris เตือนว่า “ผู้ป่วยซึมเศร้า” ไม่ควรหา “เห็ดขี้ควาย” มารักษาโรคเอง เพราะงานวิจัยยังต้องมีการทดลองเพิ่มเติมกับกลุ่มตัวอย่างให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะแน่ใจว่า สามารถนำไปรักษา “โรคซึมเศร้า” ได้อย่างปลอดภัย
เห็ดขี้ควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing วงศ์ Strophariaceae มีสาร psilocybine และ psilocine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518
ข้อมูลจาก : กองควบคุมวัตถุเสพติด,salika
Advertisement