สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพกลุ่มดาวคนคู่สุดโรแมนติกเปรียบเหมือน "คู่รัก" รับวาเลนไทน์ แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่ "พี่น้อง"
วันนี้ 14 ก.พ.2566 เฟซบุ๊กเพจ “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์รูปภาพกลุ่มดาวคนคู่สุดโรแมนติกรับวาเลนไทน์ พร้อมข้อความระบุว่า “กลุ่มดาวคนคู่ที่ดูโรแมนติกดัง "คู่รัก"
แต่สุดท้าย เป็นได้แค่ "พี่น้อง"
สำหรับคนที่หลงใหลในท้องฟ้ายามค่ำคืน การได้นอนดูดวงดาวในที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท น่าจะเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นคืนวาเลนไทน์เช่นนี้ การได้นอนดูดาวเคียงคู่กับคนรัก ก็น่าจะเป็นประสบการณ์สุดแสนจะโรแมนติกที่ยากจะลืมเลือน และกลุ่มดาวที่เป็นสัญลักษณ์ของ “คนสองคน” ที่หลาย ๆ คนนึกถึงเป็นอันดับแรก ก็มักจะเป็นกลุ่มดาวคนคู่ ที่ดูราวกับเป็นคู่รักยืนโอบไหล่เคียงคู่กันอยู่บนท้องฟ้ามาเป็นเวลาช้านาน แต่ทราบหรือไม่ว่า ทั้งสองคนนี้ … เป็นแค่พี่น้อง
กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) เป็นกลุ่มดาวที่อยู่ทางซีกฟ้าเหนือ และเป็นหนึ่งในกลุ่มดาว 12 จักรราศีประจำราศี มิถุน มีดาวฤกษ์สว่างเด่น 2 ดวงเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ ดาวพอลลักซ์ (Pollux) ดาวสว่างสีส้มแดง และดาวคาสเตอร์ (Caster) ดาวสว่างสีฟ้าขาว เป็นส่วนศีรษะของคนคู่ทั้งสองคนนี้ โดย Gemini เป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า “ฝาแฝด” ที่หมายถึงพี่น้องฝาแฝดพอลลักซ์และคาสเตอร์ตามตำนานกรีกโบราณนั่นเอง
กลุ่มดาวคนคู่เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่สว่างโดดเด่นของช่วงหัวค่ำในช่วงนี้ สามารถสังเกตเห็นได้ทันทีที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท ซึ่งบริเวณใกล้เคียงกับคนคู่ยังมีอีก 6 กลุ่มดาวที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มดาวนายพราน (Orion) กลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Majoris) กลุ่มดาวหมาเล็ก (Canis Minoris) กลุ่มดาววัว (Taurus) และกลุ่มดาวสารถี (Auriga) โดยทั้ง 6 กลุ่มดาวนี้ สามารถลากเส้นเชื่อมกันเป็นรูปหกเหลี่ยมได้ เรียกว่า “หกเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter Hexagon)” ที่จะปรากฏโดดเด่นเกือบตลอดทั้งคืนในช่วงนี้นั่นเอง
สุดท้ายนี้ แม้คนคู่ของเราจะเป็นแค่พี่น้องฝาแฝด แต่หากใครได้อ่านนิทานที่มาของพี่น้องคู่นี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าพี่น้องคู่นี้รักกันมากขนาดไหน ซึ่งความรักนั้นไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงคู่รักเสมอไป แต่ยังรวมถึงความรักที่มีระหว่างเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมรถประจำทาง ไปจนถึงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน … Happy Valentine’s Day ขอให้ทุกท่านมีความสุขในวันวาเลนไทน์ครับ
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.”
อ้างอิงข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Advertisement