"ชัยวุฒิ" จ่อยื่นศาล ปิด Facebook ในไทย สกัดมิจฉาชีพหลอกลงทุนระบาดบนสื่อออนไลน์ หวั่นเป็นภัยต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธวัชชัย พิทยโสภณ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพลตำรวจตรี ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อโฆษณาผ่าน Facebook หลอกประชาชนลงทุน
รวมถึงการชักชวนลงทุน โดยแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจดทะเบียน และสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเทรดทองเริ่มต้น 1,999 บาท พร้อมระบุว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและได้กำไรร้อยละ 15-30 ต่อวัน หรือลงทุนผ่านบริษัท หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีลักษณะข้อความเชิญชวนลงทุนมีผลกำไรสูงให้ผลตอบแทนในลักษณะเป็นรายสัปดาห์
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอเรียนว่า ก.ล.ต.หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีเสนอการลงทุนดังกล่าว หากพบเป็นข้อมูลปลอมที่มีการแอบอ้างชื่อ และตราสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่นั้น เป็นข่าวปลอมทั้งสิ้น เพื่อต้องการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อและร่วมลงทุนตามคำแนะนำของเพจต่างๆ ไปแล้วจะไม่ได้รับเงินคืน ทั้งในส่วนของค่าตอบแทนหรือเงินต้น
ปัจจุบัน โจรไซเบอร์ มีกลวิธีต่าง ๆ ให้หลงเชื่อและโอนเงินออกจากบัญชี ด้วยกลวิธีปรับเพิ่มกลไกลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเทรดเหรียญดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์, ลงทุนเกี่ยวกับเหรียญคริปโต, ลงทุนกับบริษัทปล่อยเงินกู้ผลตอบแทนสูง, ลงทุนหุ้นทอง, ร่วมลงทุนประมูลสินค้าเพื่อรับผลตอบแทนสูง, ลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ, และลงทุนหุ้นในเครือบริษัทชื่อดัง
นอกจากนี้ โจรออนไลน์มักปลอมโปรไฟล์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเรื่องการเงินการลงทุนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง และเข้าหาผู้เสียหายผ่านการแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ของผู้ที่สนใจด้านการลงทุน โดยทางกระทรวงฯ ได้มีการส่งหนังสือขอให้บริษัท meta หรือ FB ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายโฆษณาบนแพลต์ฟอร์ม FB และส่งข้อมูลให้ FB ทำการปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไปแล้วกว่า 5301 โฆษณา/เพจปลอม อีกด้วย
“ดีอีเอส อยู่ระหว่างการเรียบเรียงหลักฐานจากผู้กระทำความผิดบนแพลตฟอร์มเฟสบุ๊คเพื่อส่งศาลให้มีการปิดเฟสบุ๊คภายในสิ้นเดือนนี้และขอให้ศาลสั่งปิดเฟสบุ๊คภาคใน 7 วัน โดยการกระทำผิดของเฟสบุ๊ค เนื่องจากเฟสบุ๊ค ได้รับการโฆษณาจากผู้กระทำความผิดมิจฉาชีพในการลงโฆษณา และหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อในการลงทุนและซื้อสินค้าผ่านเฟสบุ๊ค เมื่อลูกค้าหลงเชื่อและชำระค่าสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ที่ผ่านมามีผู้เสียหายจำนวนมากกว่า 200,000 รายหรือประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จาก 300,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท ถ้าเฟสบุ๊คไม่ช่วยเหลือประเทศไทย ถ้าเขาอยากทำธุรกิจในประเทศไทย เขาต้องแสดงความรับผิดชอบกับสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้คุยกับเฟสบุ๊คตลอดเวลา แต่กลับไม่สกรีนผู้มาลงโฆษณาทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหายมากกว่า 100,000 ล้านบาท” ชัยวุฒิ กล่าว
ขอเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อการชักชวนลงทุนทางสื่อสังคมออนไลน์ใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้พี่น้องประชาชนตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีการกล่าวอ้างถึงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันการเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตว่าข้อความการเชิญชวนลงทุนเหล่านั้น จะใช่มิจฉาชีพหรือไม่ มีรูปแบบดังนี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 เพื่อช่วยดูแลคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ช่วยระงับยับยั้งการโอนเงินและติดตามเงินคืนได้ทันมากขึ้นโดยเจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้า จะมีโทษทางอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลขโทรศัพท์ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ สถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อน พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ( 1 ม.ค.- 16 มี.ค. 66) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.- 31 ก.ค.66) เกิดรวม 80,405 คดี เฉลี่ย 591 คดีต่อวัน สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 199 คดี/วัน ขณะที่สถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก. ( 1 ม.ค.- 16 มี.ค.) มีการขออายัด1,346 ล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5 % ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.- 31 ก.ค.66) มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็น 10.6 %
ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า รวม 364 ราย ดังนี้ บัญชีม้า รวม 254 ราย, ซิมม้า รวม 43 ราย, ซื้อขายบัญชีม้า รวม 14 ราย ,ซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ รวม 53 ราย
ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ SEC Check First หรือหากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย หรือได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และโทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง
Advertisement