โรงเรียนประถมโคราช ขานรับ ยกเลิก “ครูเวร” แต่ขาดงบฯ ซื้อกล้องวงจรปิด วอนจัดสรรเงินมาช่วย พร้อมออกคำสั่งบูรณาการหลายหน่วยงานร่วมสอดส่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติให้ยกเลิกระเบียบครูต้องเข้าเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ และทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ทำหนังสือด่วนถึงโรงเรียนทั่วประเทศ ยกเลิกคำสั่ง “ครูอยู่เวร” และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองและสถานีตำรวจ เพื่อวางแผนดูแลรักษาความปลอดภัยสถานศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น
วันที่ 30 ม.ค. 67 นายเชี่ยว ภักดีณรงค์ ผอ.โรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) ต.ตลาด อ.เมือง จ.นครราชสีมา โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 กล่าวว่า
ส่วนตัวกังวลใจอยู่ เพราะการอยู่เวรยามโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในโรงเรียนมีทรัพย์สินของทางราชการอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจตราพบเห็นชำรุดเสียหาย ก็สามารถแจ้ง เพื่อดำเนินการซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว หากพบเห็นใครหยิบฉวยไปจะได้รีบติดตามตัว ฉะนั้นในช่วงหลังเลิกเรียนจะมีความสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุได้ง่าย ถ้าไม่มีใครมาอยู่เวรยามเฝ้า หากเกิดเหตุขึ้นมา ทางโรงเรียนจะรับมือหรือแก้ไขได้อย่างไร ตนจึงเห็นว่า การมีครูเวรประจำการช่วงกลางคืน ยังมีความจำเป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งหรือนโยบายลงมา ทางโรงเรียนก็น้อมรับ และไปปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยปกติส่วนใหญ่วันเสาร์-อาทิตย์ โรงเรียนจะจัดครูเวรมาประจำช่วงกลางคืน ซึ่งโรงเรียนบ้านบุ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีบุคลากรเกือบ 30 คน จะจัดครูเวรมาประจำช่วงวันเสาร์อย่างน้อย 2 คน โดยภาคกลางคืนจะเป็นครูเวรผู้ชายอยู่คู่กับนักการภารโรง ซึ่งนักการภารโรงที่มาทำงานให้กับโรงเรียนตอนนี้ก็ใช้เงินรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าสนามของโรงเรียน ที่เปิดเป็นตลาดนัดชุมชนทุกวันอาทิตย์ มาเป็นค่าจ้างนักการภารโรง เพื่อให้ช่วยดูแลทำความสะอาดและช่วยสอดส่องเข้าเวรยามดูแลความปลอดภัยให้กับโรงเรียน ทำให้ครู นักเรียน บุคลากร และผู้ปกครองนัมีความอุ่นใจมากขึ้น
อีกทั้งเมื่อมีคำสั่งให้ยกเลิกครูเวร แล้วให้ทางโรงเรียนประสานบูรณาการกับท้องถิ่นและตำรวจ ให้เข้ามาช่วยสอดส่องดูแลนั้น ทางโรงเรียนสามารถประสานขอความร่วมมือได้ทั้งตำรวจบ้านและชุมชน แต่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะต้องมาช่วยตอนไหนอย่างไร จึงอยากให้หน่วยเหนือออกคำสั่งลงมาให้ชัดเจน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่มาบูรณาการร่วมกัน มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนถูกต้อง ว่าใครจะต้องดูแลหรือรับผิดชอบตรงส่วนไหนอย่างไร รวมทั้งอยากให้ตั้งงบประมาณมาช่วยดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานช่วยเหลือโรงเรียน
ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิด ทางโรงเรียนต้องระดมจัดซื้อมาติดตั้งกันเอง ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 20 ตัว ชำรุดเสียหายไปบางส่วน เหลือใช้งานได้ 14 เท่านั้น และเริ่มเสื่อมสภาพบ้างแล้ว เมื่อไม่มีครูเวรมาช่วยตรวจตราช่วงกลางคืน กล้องวงจรปิดจึงมีความสำคัญอย่างมาก จึงอยากให้ทางกระทรวงฯ สนับสนุนเรื่องจัดซื้อกล้องวงจรปิดด้วยจะได้นำมาติดตั้งโดยเร็ว เพื่อช่วยเป็นหูตาสอดส่องดูความปลอดภัยให้กับโรงเรียน
Advertisement