ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบ 6 ผู้ต้องหา แอบอ้างโครงการหลวง พบเงินหมุนเวียนกว่า 269 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม
1.นางชยาวรรณฯ อายุ 60 ปี ที่สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา
2.นายวิโรจน์ฯ อายุ 56 ปี ที่บ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
3.นางพิชญาฯ อายุ 27 ปี ที่บ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
4.นายสิงขรฯ อายุ 53 ปี ที่บ้านพักในพื้นที่ ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
5.นายจารุเดช หรือเสกสรรฯ อายุ 41 ปี ที่บ้านพักในพื้นที่ ถ.พัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
6.นางไก่แก้ว (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ที่ บ้านพักในพื้นที่ ม.10 ต.วังเพลิง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี
ฐานความผิด "ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่ เป็นการฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน"
โดยเมื่อต้นเดือน เมษายน 2565 ต่อเนื่องเดือน กรกฎาคม 2566 นางชยาวรรณฯ ผู้ต้องหา ได้แอบอ้างว่าเป็นประธานโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชปถัมภ์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ
มีหน้าที่ถือสมุดบัญชีและบริหารโครงการต่าง ๆ ประมาณ 28 โครงการ โดยผู้ต้องหาได้ร่วมกับชักชวนประชาชนทั่วไป ให้มาร่วมลงทุนในโครงการหลวง โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกรรมาธิการโครงการหลวง และชักชวนให้ทำการลงทุนคือ ให้สมาชิกเสียค่าใช้จ่ายเพื่อรับผลประโยชน์ประมาณคนละ 75,000-100,000 บาท เพื่อรับผลประโยชน์ 13 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ
และหลังจากนั้นจะได้รับเงินจาก 50 หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 50 ล้านบาท และการลงทุนอีกรูปแบบ คือ จะนำเงินของสมาชิกไปปลดล็อกระบบเงินในบัญชี โดยจะให้ผลตอบแทนสูง เช่น ลงทุน 10,000 บาท ได้รับผลตอบแทน 4 ล้านบาท หรือ ลงทุน 10,000 บาท ได้รับผลตอบแทน 5 ล้านบาท เป็นต้น โดยมีการชักชวนสมาชิกผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ของกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งต่อมามีผู้เสียหายจำนวน 8 ราย หลงเชื่อและร่วมลงทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 787,090.34 บาท
ต่อมาผู้เสียหาย ได้สอบถามไปยังกลุ่มของผู้ต้องหาซึ่งอ้างว่าเป็นผู้บริหารของโครงการต่าง ๆ ถึงเงินที่จะได้รับ แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา และไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงเอาทรัพย์สินไป จึงได้มาพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ.เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับ นางชยาวรรณฯ กับพวก ให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วขออนุมัติศาลจังหวัดปทุมธานี ออกหมายจับ นางชยาวรรณฯ กับพวก รวม 6 หมาย
จนกระทั่งวันที่ 26 ม.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. นำกำลังเข้าตรวจค้นจำนวน 7 จุด ในพื้นที่ กทม ,ฉะเชิงเทรา ,ลพบุรี ,นครศรีธรรมราช และ สงขลา โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้ง 6 รายตรวจยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทรัพย์สินที่น่าเชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิด จำนวนกว่า 100 รายการ อาทิ เช่น สมุดบัญชี 54 เล่ม,รถยนต์หรู 3 คัน คอมพิวเตอร์ 17 เครื่อง,กระเป๋าแบรนด์เนม 5 ใบ,นาฬิกาหรู 2 เรือน,แหวนเพชร 1 วง ,กล้อง DSLR 5 ตัว เหรียญเฉลิมพระชนพรรษา 100 ชิ้น โฉนดที่ดิน 4 ฉบับ ในพื้นที่ จ,พัทลุง จ.สงขลา มูลค่ากว่ารวม 16 ล้านบาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. เพื่อ
ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป จากการสืบสวนพบว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
โดยมีนายจารุเดช หรือเสกสรร ฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ สั่งการให้นางชยาวรรณฯซึ่งเป็นอดีตพนักงานบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง อ้างตนเป็น "นายใหญ่" เป็นผู้ดูแล ประสานงานของมูลนิธิฯ
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะชักชวนเข้ากลุ่มไลน์ต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง , โครงการในดวงใจ เป็นต้น ซึ่งในไลน์กลุ่ม นางขยาวรรณฯ กับพวก จะส่งภาพถ่ายขณะประชุมว่าเป็นการประชุมของมูลนิธิฯ บางครั้ง ก็แอบอ้างว่าเป็นการประชุมกับผู้ใหญ่รัฐบาล จากการตรวจสอบพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อเข้าเป็นสมาชิกในไลนักลุ่ม และโอนเงินให้ นางชยาวรรณฯ จำนวน 900 กว่าราย เป็นเงินประมาณ 269 ล้านบาท โดยนางชยาวรรณฯ ใช้บัญชีธนาคารของตนเองเป็นบัญชีรับโอนเงินลงทุนจากผู้เสียหาย ก่อนจะโอนต่อไปยังบัญชีของนางไก่แก้วฯ จากนั้น นายจารุเดช หรือนายเสกสรรฯ จะสั่งการให้นางไก่แก้วฯ โอนเงินจากการหลอกลวงดังกล่าวให้ตนเอง แล้วโอนต่อจะกระจายไปยังบัญชีบริษัทต่างๆของตนเอง อีก จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์และผลิตสื่อมีเดีย บริษัทเพลง บริษัทผลิตเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง โดยนำเงินที่ได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจ ซื้อทรัพย์สินต่างๆ ถือเป็นการยักย้ายถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด อันเข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. จะได้
ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหานี้เพิ่มเติม เพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด
หากประชาชนท่านใดหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว สามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ กับพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ณ ศูนย์รับแจ้งความ ตำรวจสอบสวนกลาง ถ.พหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ฝากเตือนภัยถึงพี่น้องประชาชนให้ทราบถึงพฤติการณ์ของคนร้ายที่ หลอกลวงเหยื่อในหลายลักษณะ อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยเสนอให้ผลตอบแทนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ท่านอาจกำลังถูกหลอก ควรตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการลงทุน
Advertisement