สาวไส้ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ใครเป็นตัวการ แก้ไขอย่างไร
ปัญหาทุจริตนำเข้าหมูเถื่อนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้เลี้ยงหมู และผู้บริโภคหมูชาวไทย เพราะทำให้ราคาหมูในประเทศถูกลง จนทำให้ผู้เลี้ยงหมูในประเทศขาดทุน และผู้บริโภคเสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งจากเนื้อสัตว์ไม่ได้มาตรฐาน
ใบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จะพาทุกคนไปย้อนรอย สาวไส้ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ว่าผู้กระทำผิดสามารถอาศัยช่องโหว่ใดเพื่อนำเข้าหมูเถื่อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อแก้ไขปัญหานี้
‘อหิวาห์แอฟริกาหมู’ โรคร้ายต้นกำเนิดขบวนการหมูเถื่อน
แม้คดีนำเข้าหมูเถื่อนจะเพิ่งกลายเป็นข่าวดังมาเมื่อปี 2566ไทยต้องเจอปัญหาหมูเถื่อนมาแล้วตั้งแต่ปี 2565 เพราะในช่วงนั้น ประเทศไทยพบการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ซึ่งทำให้ราคาหมูในตลาดมีราคาสูงขึ้น เพราะทำให้เกษตรกรผลิตหมูได้น้อยลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศยังเท่าเดิม
จากข้อมูลในปี 2565 หลังจากมีการระบาดของโรค ASF หมูเนื้อแดงที่เคยราคาหน้าเขียงระดับ 120-150 บาทต่อกิโลกรัม พุ่งขึ้นไปสูงเกินกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม และคงระดับ 180-200 บาทต่อกิโลกรัมตลอดปี
การเฟ้อขึ้นของราคาเนื้อหมูภายในประเทศทำให้มีผู้เห็นช่องทางทำกำไร ด้วยการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เข้ามา ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศเพราะทำให้ราคาหมูตกต่ำ และผู้บริโภคที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคเนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง สารปฏิชีวนะ และเชื้อโรคต่างๆ
จากการพูดคุยกับ นาย สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทางสมาคมได้เริ่มรับรู้ถึงปัญหานำเข้าหมูเถื่อนตั้งแต่ปี 2565 หลังมีการพบหมูในตู้คอนเทนเนอร์รักษาความเย็นมากกว่า 160 ตู้ น้ำหนักรวม 4,500 ตัน ที่ท่าเรือสีขาวที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งทางผู้นำเข้าแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ว่าเป็นเนื้อปลา และเม็ดพลาสติก ก่อนที่จะมีการสืบทราบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในคดี 59/2566 จนพบว่ามีการนําเข้าหมูเถื่อนเข้ามาทั้งหมดอีกถึง 2,385 ตู้ น้ำหนักมากกว่า 60,000 ตัน ซึ่งขณะนี้ยังคงซุกซ่อนอยู่ในห้องเย็นทั่วประเทศ
จะเห็นได้ว่า ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนมีกลไกสำคัญคือ การให้ผู้นำเข้าหมูเถื่อนสำแดงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์เป็นสินค้าชนิดอื่น เช่น สินค้าประมง โพลิเมอร์ และสินค้าแช่แข็ง เพื่อลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามา
ซึ่งแน่นอนว่าหากหน่วยงานที่ได้รับแจ้ง และหน่วยงานที่ดูแลการนำเข้าสินค้าเช่น กรมศุลกากร ประมาทเลินเล่อ หรือตั้งใจปล่อยปละละเลย ไม่เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นสินค้าในตู้เป็นสินค้าที่สำแดงจริงหรือไม่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หมูเถื่อนก็จะเล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย
โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากร ณ วันที่ 17 ตุลาคม ปี 2566 ตั้งแต่ปี 2564-2566 มีผู้ถูกจับกุมจากการนำเข้าหมูเถื่อน รวม 220 ราย น้ำหนักรวม 5,439,910 กิโลกรัม แบ่งเป็น
ปี 2564 : 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม
ปี 2565 : 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม
ปี 2566: 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม
‘หมูเถื่อน’ ฝันร้ายของเกษตรกรไทย
หมูเถื่อนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย เพราะปริมาณหมูเถื่อนที่ล้นทะลักเข้ามาทำให้ราคาเนื้อหมูลดลง เนื่องจากหมูเหล่านี้มีราคาถูกกว่าหมูที่ผลิตในประเทศ จากต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ถูกกว่าในไทย
นาย สิทธิพันธ์ ให้ข้อมูลกับทีม SPOTLIGHT ว่า ต้นทุนราคาอาหารสัตว์ในต่างประเทศถูกกว่าต้นทุนในไทยประมาณ 50-60% และอยู่ในช่วงประมาณ 40 กว่าถึง 50 บาท โดยในยุโรปจะถูกกว่าไทยประมาณ 50% ขณะที่อเมริกาถูกกว่าไทย 60% เนื่องจากการผลิตวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพก กากถั่ว ในประเทศเหล่านี้ผลิตเป็นแปลงใหญ่ ขณะที่ไทยต้องนําเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศถึง 60% และผลิตใช้เองได้เพียงประมาณ 40%
จากข้อมูลของ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนทำให้ราคาหมูแดงลดลงจาก ประมาณ 200 บาท/กิโลกรัม ในปี 2565 เหลือเพียง 130-140 บาท/กิโลกรัม ในปี 2566 และตกลงมาเหลือ 134-144 บาท/กิโลกรัม ในเดือนมกราคมปี 2567
การลดลงของราคาหมูส่งผลต่อทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก เพราะในขณะที่หมูขายได้ในราคาต่ำลง ต้นทุนในการผลิตยังสูงเท่าเดิม โดยในปี 2566 ต้นทุนในการผลิตสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยทั้งปี นั้นสูงถึง 87.57 บาท/กิโลกรัม แต่เกษตรกรสามารถขายได้เฉลี่ยเพียง 76.08 บาท/ กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้ในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในไทยต้องยอมขายหมูในราคาขาดทุน และทำให้เกษตรเลี้ยงหมูรายเล็กกว่าครึ่งที่สายป่านสั้นต้องล้มเลิกกิจการลงเพราะรับภาระขาดทุนไม่ไหว
ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้มีหมูเถื่อนเข้ามาได้นั้น จึงเกิดจากทั้งการปล่อยปละละเลย หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมประมง ปศุสัตว์ และปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคาอาหารสัตว์ที่สูง ทำให้ต้นทุนในการผลิตและราคาหมูที่ผลิตในประเทศสูง เป็นแรงจูงใจให้มีผู้คิดนำเข้าหมูเถื่อนราคาถูกมาขายกับผู้บริโภค
ล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แถลงว่า พบผู้กระทำผิดในหลายหน่วยงานทำงานกันเป็นขบวนการในการนำเข้าหมูเถื่อน มีทั้งข้าราชการระดับสูง นักการเมือง อดีตนักการเมือง และเจ้าหน้าที่หลายงานเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง
โดยในการลักลอบนำเข้าจะมีบริษัทชิปปิ้ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสำแดงเอกสารเท็จ ประทับตราในเอกสารเพื่อยืนยัน เปลี่ยนจากหมูเถื่อนหรือเนื้อเถื่อนอื่นๆ เป็นปลาแซลมอน หรือเป็นโพลิเมอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
รัฐต้องจริงจัง กวดขันการนำเข้า ลดราคาอาหารสัตว์ช่วยเกษตรกร
เพื่อแก้ปัญหานี้ นาย สิทธิพันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มองว่าต้องมีการแก้ไขขั้นตอนการนำเข้าสินค้าให้มีความรัดกุม โดยรัฐบาลจะต้องเข้าไปควบคุมทั้งกระบวนการการนำเข้า ยกเลิก green line หรือการออกใบขนสินค้าขาออกที่ยกเว้นการตรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อน และ เขตการค้าเสรีหรือ free zone ในท่าสินค้าต่างๆ ที่อนุญาตให้ผู้นำเข้าไปเสียภาษีก่อนแล้วค่อยแจ้งว่าสินค้าในตู้คืออะไร
ทั้งนี้ นอกจากการทำให้ขั้นตอนการนำเข้าหมูรัดกุมขึ้นแล้ว นายสิทธิพนธ์ยังเสนออีกว่ารัฐบาลควรเร่งสนับสนุนให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ 2 % และเร่งให้มีผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่จำเป็นในการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น ข้าวโพด เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงหมู ทำให้เกษตรกรไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านราคา และทำให้หมูในประเทศมีราคาถูกลงจนผู้ลักลอบนำเข้ามองว่าไม่คุ้มที่จะนำเข้าหมูเถื่อนมาจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ สำหรับนายสิทธิพันธ์ การปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน และสนับสนุนจากรัฐเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ยังมีความสำคัญไม่เฉพาะแต่กับเกษตรกรเลี้ยงหมูและผู้บริโภคชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อ “ความมั่นคงทางอาหาร” ของประเทศ เพราะถ้าหากเกษตรกรเลี้ยงหมูลดลง ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์จะลดลงตามไปด้วย ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารของประเทศในภาพรวม
ดังนั้นแล้ว ภาครัฐจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยอาศัยทั้งการจับกุม ลงโทษ และออกมาตรการหรือกฎเกณฑ์เพื่อปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนมาก่อนในขั้นแรก และการพัฒนาระบบการเกษตร และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ของไทยในระยะยาว ให้ราคาอาหารสัตว์มีราคาถูกลง ทำให้เกษตรกรไทยสามารถมีกำไร สู้ราคากับหมูเถื่อนจากต่างประเทศได้สำเร็จ
ไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศไทยก็อาจจะต้องประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในอนาคต เพราะผู้ประกอบการภายในประเทศไม่สามารถสู้ราคากับเนื้อจากต่างประเทศได้จนต้องปิดตัว และอาจทำให้สถานะของประเทศไทยที่เป็น “ครัวโลก” และผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลกต้องเปลี่ยนไปก็ได้
Advertisement