สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนคือหนึ่งในการต่อสู้ที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ เพราะตัวเลข “ภาษีนำเข้า” ที่สองประเทศประกาศใส่กันสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุด (16 เมษายน 2568) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูงถึง 245% จากก่อนหน้า 145%
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยแถลงจุดยืนจีนต่อสงครามการขึ้นภาษี สหรัฐฯ ระบุว่าการขึ้นภาษีศุลกากรต่อจีนและนานาประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่เคารพระบบการค้าโลก แม้จีนไม่เห็นด้วยกับความขัดแย้งแต่อาจต้องตอบโต้ และพร้อมร่วมมือไทย-นานาประเทศปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“สหรัฐฯ จุดชนวนสงครามภาษี ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสั่นคลอนไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงต่อการถดถอยอย่างหนัก” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย นายหาน จื้อเฉียง (Han Zhiqiang) กล่าวในบทความฉบับล่าสุดผ่านเพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย วันนี้ (16 เมษายน 2568)
บทความดังกล่าว เปิดเผยทัศนะของหาน จื้อเฉียง เกี่ยวกับสงครามภาษีระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเริ่มจากการตั้งคำถามข้อแรกคือ
จื้อเฉียงยกคำถามนี้ขึ้นมา เพราะสหรัฐฯ เลือกที่จะเพิ่มภาษีนำเข้ากับประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ โดยมีประเทศที่ได้รับผลกระทบจากประกาศขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ถึง 57 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ 37%
“การค้าระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรและข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การค้าขายที่สมัครใจและเพื่อประโยชน์ร่วมกัน การที่บริษัทอเมริกันเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์แล้วนำกลับไปขายในสหรัฐฯ ก็เพราะไทยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หากคิดว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และตัดสินว่าไทยมีการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯและสมควรถูกขึ้นภาษี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การที่สหรัฐฯ เกินดุลในภาคการค้าบริการกับคู่ค้าทั่วโลกมากถึง 295,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล จะถือว่าสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมต่อคู่ค้าทั่วโลกหรือไม่” เอกอัครราชทูตจีนกล่าว และชี้ว่าการตอบโต้แบบนี้ของสหรัฐฯ เป็นวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน
นายจื้อเฉียงกล่าวว่า “สหรัฐฯเองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้าโลก ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้บริโภคสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่าจากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ครองความได้เปรียบในภาคการเงิน เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ” อ้างถึงบทความของ โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “สหรัฐฯ คือผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในเวทีการค้าโลก”
กลับกันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ จื้อเฉียงชี้ว่าไม่ใช่ความยุติธรรมอย่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวอ้าง แต่คือการใช้อำนาจของประเทศตนบีบบังคับ เป็นการกดดันคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม
“สหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นอาวุธในการบีบบังคับคู่ค้าจนถึงขีดสุดและแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้อำนาจการเมืองเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการค้า [...] ทั่วโลกมี 190 กว่าประเทศ ลองจินตนาการดูว่า หากทุกประเทศต่างคิดว่าประเทศของตนเองต้องมาก่อน และหลงเชื่อในสถานะที่มีอำนาจที่แข็งแกร่ง โลกนี้จะถอยกลับไปสู่ยุคแห่งกฎป่า ประเทศเล็กและประเทศที่อ่อนแอจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ และระเบียบกติกาสากลจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง”
หากถามว่าจีนในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้มากที่สุดจะรับมือเรื่องนี้อย่างไร เอกอัครราชทูตย้อนมาชี้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั่นคือ “การได้ประโยชน์ร่วมกัน” และเน้นว่าหากสองประเทศร่วมมือกัน ทั้งคู่ก็จะได้ประโยชน์ แต่หากปะทะกัน ทั้งคู่ย่อมเสียหาย “ สงครามการค้าย่อมไม่มีผู้ชนะ” มิหนำซ้ำความสัมพันธ์ของสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ยังส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในภาพกว้างอีกด้วย
จีนจึงไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามภาษี แต่หากสหรัฐฯ ยืนกรานแนวทางแข็งกร้าวต่อจีน จีนก็จำเป็นต้องตอบโต้แบบเดียวกัน
“จีนไม่ประสงค์จะทำสงครามภาษี แต่หากมีคนบังคับเรียกเก็บภาษีอย่างไม่มีเหตุผลกับจีน จีนก็จำเป็นต้องตอบโต้อย่างเด็ดขาด” นายจื้อเฉียงกล่าว เล่าถึงการตอบโต้ของจีนด้วยการเพิ่มภาษีตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 จีนเพิ่มภาษีนำเข้าตอบโต้สหรัฐฯ เป็น 125% ซึ่งจื้อเฉียงกล่าวว่าเป็นไปเพื่อ “ปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของจีน และเพื่อปกป้องระเบียบการค้าเสรีของโลก รวมถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมของมนุษยชาติ”
จื้อเฉียงชี้ว่าสหรัฐฯ ในฐานะผู้เริ่มต้นสงครามการค้าจะเป็นผู้ได้รับความเสียหายที่ตนก่อเป็นรายแรก
โดยอ้างถึงผลการวิจัยของสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ที่ระบุว่า ท้ายที่สุด ต้นทุนด้านภาษีกว่า 90% จะตกที่ผู้นำเข้า ธุรกิจปลายน้ำ และผู้บริโภคในสหรัฐฯ
จื้อเฉียงชี้ให้เห็นถึงความผันผวนของตลาดหุ้นและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เป็นเหมือน “รถไฟเหาะ” ในช่วงนี้เป็นตัวอย่าง แล้วกล่าวว่า แนวทางนี้ไม่เพียงแต่จะถูกต่อต้านจากนานาประเทศ ยังจะถูกคัดค้านโดยประชาชนชาวอเมริกันที่ชาญฉลาดอีกด้วย
คำกล่าวของเอกอัครรารชทูตจื้อเฉียงนับว่าไม่ผิดนัก และเขายังได้ยกตัวอย่างการประณามจากนานาประเทศมาให้เราเห็นภาพบรรยากาศความไม่พอใจรุนแรงชัดเจนขึ้น เริ่มด้วย นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผู้เรียกร้องให้ชาติอาเซียนอย่านิ่งนอนใจ นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เตือนว่าสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังกระทำจะผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่ใช้อำนาจโดยพลการมากขึ้น เต็มไปด้วยลัทธิการคุ้มครองการค้าและเป็นอันตราย ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวต่อสาธารณะว่านโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และทำลายผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วโลก นายกรัฐมนตรีมาร์ค คาร์นีย์แห่งแคนาดากล่าวว่า เรื่องนี้คือ “โศกนาฏกรรมของการค้าโลก”
ด้านจีนยังคงมองว่าไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญทั้งด้านการค้าและห่วงโซ่อุตสาหกรรม และมีอนาคตร่วมกันอยู่ เน้นย้ำว่าจีนและไทยควรร่วมมือกัน ยึดมั่นในหลักการค้าเสรีและการเปิดกว้าง ยึดมั่นในการดำเนินความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมการค้าระหว่างกันและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรม
แต่ไม่ใช่เพียงแค่ความร่วมมือ เอกอัครราชชูตจีนประจำประเทศไทยเน้นว่าไทยและจีนควรปกป้องระเบียบการค้าโลก ร่วมมือใช้กลไกความร่วมมือจีน-อาเซียน องค์การการค้าโลกและเวทีอื่น ๆ เรียกร้องให้ทุกประเทศยึดมั่นในหลักการที่ไม่กีดกัน เปิดกว้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อร่วมกันปกป้องและสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีความร่วมมืออย่างเปิดกว้าง ซึ่งหมายถึงการร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อแสดงจุดยืนตอบโต้การทำสงครามภาษีของสหรัฐฯ ที่จีนมองว่าจะนำมาซึ่งความวุ่นวายในวงกว้างอย่างแน่นอน
จื้อเฉียงกล่าวว่า จีนจะยังคงเดินหน้าขยายการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง และแบ่งปันโอกาสแห่งการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และยินดีต้อนรับผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น
“จีนพร้อมจับมือกับไทยเพื่อสร้างต้นแบบแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มความมั่นคงภายใต้สถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก” นายหาน จื้อเฉียงกล่าว