ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก นวัตกรรมการทุจริตที่บ่อนทำลายประเทศ
ทุกวันนี้เรากำลังขับรถอยู่บนเส้นทางที่เต็มไปด้วย “ส่วย”
ส่วย คือ การทุจริตติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐรูปแบบนึง มีอยู่ในแทบทุกวงการ ตั้งแต่การก่อสร้าง ถนน สะพาน อาคาร และหลายครั้งก็พบว่า สิ่งการก่อสร้างเหล่านั้นถูกปล่อยปละละเลย ทำให้ไม่มีคุณภาพ
รถบรรทุก ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ขนสิ่งของมากมายหลายประเภท แทบไม่มีใครรู้ว่ารถบรรทุก ที่เราเห็นอยู่บรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ หรือที่เราเห็นบรรทุกพืชผลทางเกษตรแม้ว่าน้ำหนักอาจจะไม่เกิน แต่รูปร่างของรถที่ถูกดัดแปลงจนมีขนาดใหญ่โต จะทำให้เกิดอันตรายต่อการขับขี่หรือไม่
SPOTLIGHT Anti Corruption Season 2 EP. นี้ ไปเจาะลึกปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก นวัตกรรมการทุจริตที่บ่อนทำลายประเทศชาติ แม้จะถูกเปิดโปงกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ไม่หมดไปซักที
อะไรคือ ปัญหาที่แท้จริง และ จะมีทางแก้ปัญหาอย่างไรให้ส่วยรถบรรทุกหมดไปจากประเทศไทย
กรณี "ส่วยสติกเกอร์" เคยเป็นข่าวใหญ่ช่วงกลางปี 2566
เมื่อนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์แฉกรณี "สติกเกอร์ส่วย" ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น กระต่าย พระอาทิตย์ยิ้ม กังฟูแพนด้า รูปดาว หรือมีแบบที่เป็นตัวอักษรทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น สติ๊กเกอร์เหล่านี้เมื่อติดแล้วสามารถผ่านได้ทุกด่าน ไม่ว่ารถบรรทุกคันนั้นจะบรรทุกน้ำหนักเกินแค่ไหนก็ตาม สติ๊กเกอร์รูปร่างต่างๆมีความหมาย บ่งบอกว่าเป็นพื้นไหน และจะต้องจ่ายให้กับใคร
ซึ่งผลพวงจากการเปิดโปงในครั้งนั้นทำให้วงการสีกากี ตื่นตัวลุกขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ ที่คาดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกมาช่วยราชการ ส่วนเจ้าหน้าที่คนใดที่พบหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก จะถูกส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด ส่วนคนที่เหลือ เพียงแค่พิจารณาลงโทษทางวินัยและให้ย้ายออกนอกหน่วย ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งต่อไปเท่านั้น
1 มิ.ย.2566 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการและสมาคมเกี่ยวกับการขนส่ง10 สมาคมทั่วประเทศ หอบหลักฐานส่วยสติกเกอร์ ไปมอบให้กับนายวิโรจน์ พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนปัญหาส่วยรถบรรทุกมาหลายสิบปีแต่ก็ไม่คืบหน้า โดยส่งหลักฐานต่างๆให้ถึงมือจเรตำรวจและรักษาการผู้การทางหลวงอีกด้วย
กระแสการเปิดโปงข้อมูล "ส่วยสติกเกอร์" รถบรรทุกยังไม่ทันจะแก้ปัญหาจบ กลางดึกของวันที่ 6 ก.ย.2566 ก็ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้น มาเขย่าวงการสีกากีอีกครั้ง เมื่อหน่อง ท่าผา ลูกน้องคนสนิท ของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดนครปฐมใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรทางหลวง จนเสียชีวิต คางานเลี้ยง ที่บ้านกำนันนก ซึ่งในวันนั้นมีนายตำรวจระดับสูงไปร่วมงานอยู่ด้วยจำนวนมาก
จากกรณีคดีกำนันนก ยิ่งทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ กับเจ้าหน้าที่หรือไม่? ผลประโยชน์ที่ว่าอาจจะรวมถึงกรณีส่วยรถบรรทุกด้วยหรือเปล่า ? จนนำมาสู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถเจรจาได้อย่างลงตัว สุดท้ายจึงกลายเป็นสาเหตุของคดีสะเทือนขวัญ ณ บ้านกำนันนกในวันนั้น…คดีนี้จึงนับเป็นข่าวใหญ่ของปี 2566 เลยก็ว่าได้
เหตุการณ์ที่บ้านกำนันนก ซาลงไปไม่นาน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลาประมาณ 11.45 น. ที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 รถบรรทุกตกลงไปในหลุม ซึ่งคือถนนที่เป็นแผ่นปิดของหลุม ซึ่งข้างล่างคือท่อขนาดใหญ่ เกิดทรุดตัวลง และแยกเป็นสองแผ่น เหตุการณ์วันนั้นไม่ใช่แค่รถบรรทุก แต่ยังมีทั้งรถจักรยานยนต์และรถแท็กซี่ที่ขับตามมาได้รับความเสียหาย รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกด้วย
แม้จะมีการตั้งคำถามถึงมาตรการก่อการสร้างถนน แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่โตอีกครั้ง ก็เพราะรถบรรทุกดินคันเกิดเหตุ ถูกตั้งข้อสังเกตุว่า มีน้ำหนักเกินหรือไม่ แถมยังพบสติ๊กเกอร์เป็นรูปดาว มีตัวอักษร B แปะอยู่หน้ารถอีกด้วย ยิ่งตอกย้ำปัญหา ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก ที่ยังไม่มีท่าทีจะหมดไปจากสังคมไทย
“สติ๊กเกอร์แปะหน้ารถ” พัฒนาการของการติดสินบนเจ้าหน้าที่
ข้อมูลจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า ส่วยรถบรรทุกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน สติ๊กเกอร์ที่แปะหน้ารถเป็นเพียงพัฒนาการของการติดสินบนเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยสาเหตุของปัญหาเกิดจากความเห็นแก่ตัวของคนหลายกลุ่ม อย่างเช่น ตัวผู้ประกอบการเองที่ต้องยอมจ่ายส่วย เพื่อแลกกับการให้รถบรรทุกสามารถแบกน้ำหนักได้มากกว่าที่กฏหมายกำหนด จะได้ทำให้ต้นทุนถูกที่สุด
ในขณะที่เจ้าหน้ารัฐเอง ก็กระทำการทุจริตรับเงินสินบน และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ
กรณีรถบรรทุกมีข้อมูล ว่า รถบรรทุกกว่าครึ่งที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนต้องมีการจ่ายเบี้ยใบ้รายทางให้กับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ระบบการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย เข้ามาเกี่ยวข้องกับรับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก
พ.ร.บ.ทางหลวง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดพิกัดน้ำหนักรถบรรทุกสิบล้อตามประเภทรถดังนี้
รถบรรทุกขนาด 4 ล้อ บรรทุกได้ไม่เกิน 9.5 ตัน
รถบรรทุกขนาด 6 ล้อ บรรทุกได้ไม่เกิน 15 ตัน
รถบรรทุกขนาด 10 ล้อ ต้องบรรทุกได้ไม่เกิน 25 ตัน
รถบรรทุกขนาด 12 ล้อ บรรทุกได้ไม่เกิน 30 ตัน
รถบรรทุกขนาด 18 ล้อ บรรทุกได้ไม่เกิน 45 ตัน
รถบรรทุกขนาด 22 ล้อ บรรทุกได้ไม่เกิน 50.5 ตัน
ส่วยรถบรรทุกยังไม่หมดไปจากสังคมไทย
ทีมงานลงพื้นที่ พูดคุยกับคุณศิริชัย ศรีเจริญศิลป์ นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก คุณศิริชัย ยอมรับว่า ขณะนี้ส่วยรถบรรทุกยังไม่หมดไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และพื้นที่ถนนสายรอง ยังมีปัญหาส่วยรถบรรทุกโดยเฉพาะ อีสานใต้ กรุงเทพ และปริมณฑล ที่ผู้ประกอบการยังต้องจ่ายส่วยเดือนละหลายหมื่นบาทต่อรถ1 คัน
นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยังบอกข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีความพยายามในการแก้ปัญหาส่วยรถบรรทุกมากขึ้น การวิ่งรถในเวลากลางวัน สามารถกล่าวได้ว่า แทบจะถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด แต่ส่วยสติ๊กเกอร์ก็ยังไม่ได้หมดไป เนื่องจากในเวลากลางคืน และในพื้นที่ถนนรอง ที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมทางหลวง มีช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถเรียกรับส่วยจากผู้ประกอบการรถบรรทุกได้
การฝั่งเทคโนโลยีระบบเครื่องชั่งที่สามารถชั่งน้ำหนักได้ในขณะรถวิ่ง หรือ ที่เรียกว่า Weigh In Motion System เรียกย่อๆว่า WIM เทคโนโลยีนี้ตรวจชั่งน้ำหนักแบบอัตโนมัติในขณะรถวิ่งผ่าน โดยสามารถคัดกรองรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดได้ ช่วยลดปริมาณรถบรรทุกที่เข้ารับการตรวจชั่งน้ำหนักบริเวณด่านชั่งถาวรให้น้อยลง เป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์ได้
แต่เมื่อนำมาใช้จริง ก็พบปัญหาอย่างที่เห็น ป้ายบอกล่วงหน้าเพื่อให้รถบรรทุกวิ่งผ่าน WIM ไม่มี รถบรรทุกส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีการปฏิบัติยังวิ่งเข้าด่านชั่ง หรือหนักหน่อยก็คือ ไม่ผ่านทั้งวิม และ ด่านชั่ง
ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เป็นแนวทางที่ดีในการแก้ปัญหา แต่คงต้องให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติต่อผู้ใช้งานจริงด้วย
กฎหมายที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของผู้ประกอบการ
นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มองว่า ปัญหาของส่วยรถบรรทุก มาจากกฎหมายที่เก่าและไม่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการภาคการขนส่งในปัจจุบัน และการกำหนดบทลงโทษที่เบาเกินไป ควรปรับอัตราโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด เช่น กำหนดให้ต้องเสียค่าปรับสูงขึ้นตามจำนวนน้ำหนักที่บรรทุกเกินแบบขั้นบันได และให้ต้องรับโทษสูงขึ้นในกรณีกระทำผิดซ้ำ
อัตราโทษรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ตามพระราชบัญญัติ ทางหลวง 2535 มาตรา 73/2 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เป็นโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด
สิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีในขณะนี้คือ ผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าหลายรายไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับส่วยรถบรรทุก ถึงกับประกาศเลยว่า การขนส่งสินค้าของบริษัทจะไม่ยอมรับการจ่ายส่วยรถบรรทุก เป็นความตื่นตัวตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งหากเจ้าของสินค้าทุกรายตระหนักเช่นนี้ มีโอกาสที่ส่วยรถบรรทุกจะลดลงและหมดไปในที่สุดได้ เพราะเป็นการสร้างจิตสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกันทุกภาคส่วน
ส่วนในมุมของ ดร.มานะ เสนอทางออกว่า คนที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ดีที่สุดคือ เจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดี เพื่อสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างดี และอีกส่วนสำคัญคือ ประชาชนที่ต้องตื่นตัวและออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและประเทศชาติ
Advertisement