กรมราชทัณฑ์เปิดไทม์ไลน์ละเอียด “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิต พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว เผยพักหลังกลับมากินข้าวได้ทั้งข้าวต้ม ไข่เจียว
นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือ "บุ้ง ทะลุวัง" ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เสียชีวิตเมื่อเวลา 11.22 น.ของวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังอดอาหารประท้วงมานาน 110 วัน
นายแพทย์สมภพ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าทางรัฐบาล กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ขอชี้แจงในเบื้องต้น เกี่ยวกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของนางสาวเนติพร ดังนี้
กรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนางสาวเนติพร มาควบคุมตัวไว้ ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันวันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งขณะนั้นนางสาวเนติพรได้อดอาหารอยู่แล้ว ทางเรือนจำได้เฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการอ่อนเพลียจากภาวะอดอาหาร ก็ได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมา ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ถึง 8 มีนาคม 2567 ก็ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นเวลา 8 วันจากอาการอ่อนเพลีย
และในวันที่ 8 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2567 ได้มีการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เป็นเวลา 27 วัน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มีหนังสือส่งตัวนางสาวเนติพรกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
ซึ่งพบว่าภายหลังจากนางสาวเนติพร กลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็ได้รับรายงานว่า นางสาวเนติพร กลับมารับประทานอาหารได้ตามลำดับ และได้ให้เข้าพักในห้องผู้ป่วยรวม ซึ่งมีนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งเพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย
แพทย์และพยาบาลได้เฝ้าระวังและตรวจอาการของนางสาวเนติพรอยู่ตลอดเวลา พบว่ารู้สึกตัวดี ไม่มีอาการสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
จนกระทั่งเกิดเหตุ คือ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 06:00 น.นางสาวเนติพรและนางสาวทานตะวัน ขณะกำลังพูดคุยกันอย่างปกติในห้องผู้ป่วย นางสาวเนติพรเกิดอาการวูบและหมดสติไป ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ทางแพทย์และพยาบาล ก็ได้ให้การช่วยเหลือและดำเนินการกระตุ้นหัวใจในทันที และประสานส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จนกระทั่งมีข่าวการเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ขอเรียนไว้ว่ากระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ได้ให้ความเคารพและให้ความสำคัญในหลักสิทธิมนุษยชนสิทธิขั้นพื้นฐาน และหลักนิติธรรมและมีการเฝ้าระวังและดูแลรักษาอาการของนางสาวเนติพรอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเพื่อความโปร่งใส กระทรวงยุติธรรมได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของนางสาวเนติพร ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตนั้น เมื่อผลการสูตรอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว กรมราชทัณฑ์จะชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป
ด้านนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า บุ้งมีอาการอ่อนเพลีย และทานอาหารได้ตามลำดับ เท่าที่เห็นก็มีทานข้าวต้ม ทานไข่เจียว แต่ไม่ได้เจาะจงรายละเอียดทุกวันว่า บุ้งทานอะไรวันไหนบ้าง แต่เท่าที่ดูข้อมูลทุกวันที่รายงานมาพบว่าบุ้งทานข้าวมาเป็นระยะ
นายแพทย์สมภพ กล่าวเสริมว่าอาการของน้องก็ปกติดีทุกอย่าง ก่อนที่จะเกิดเหตุเมื่อเช้าเมื่อวานนี้ น้องมีการตรวจร่างกาย โดยแพทย์พยาบาลประเมินสภาวะของน้องตลอดเวลา แม้ว่าในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็ได้รับการรายงานจากทางโน้นเหมือนกันว่า บางมื้อก็น้องปฏิเสธที่จะรับยาบำรุงร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็น เช่นวิตามินต่างๆ แม้กระทั่งโรงพยาบาลของเราพยายามจัดยาให้ เพราะน้องมีภาวะโลหิตจาง แต่น้องปฏิเสธอีก
แต่เรื่องอาหารการกิน ก็คือในสภาวะของคนที่ทานได้ ก็เหมือนกับคนไข้ทั่วๆไป ที่เราก็จะเฝ้าระวังอาการถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งสภาพน้องก็ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่จะเกิดตอนเช้าเมื่อวาน ก็ยังมีการคุยกับน้องตะวันได้ตามปกติ ก็มีแค่บ่นว่าปวดหัว ซึ่งรายละเอียดต้องรอผลชันสูตรอีกครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ รวมถึงขั้นตอนการช่วยเหลือกู้ชีพนางสาวเนติพรทั้งหมด ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์และผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังคงมีความสับสนและให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เช่น ช่วงแรกผู้ตรวจฯกล่าวว่าไม่พบสัญญาณชีพของนางสาวเนติพร จึงได้ฉีดยากระตุ้นหัวใจ แต่ภายหลังแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีสัญญาณชีพอ่อน ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลจึงได้ cpr ที่เตียงนอน จนมีสัญญาณชีพกลับมา ก่อนเจ้าหน้าที่จะพยุงนางสาวเนติพรลงไปห้องรักษาพยาบาล
รวมถึงข้อมูลก่อนนางสาวเนติพร จะหมดสติไป ที่ตอนแรกให้ข้อมูลว่า นางสาวเนติพร ลุกไปเข้าห้องน้ำและมีการพูดคุยกับนางสาวทานตะวันว่าปวดท้องหรือไม่ และกลับมานอนข้างกัน ภายหลังมีการให้ข้อมูลว่านางสาวทานตะวัน เป็นผู้ลุกไปเข้าห้องน้ำ และนางสาวเนติพรนอนอยู่ที่เตียง, ก่อนที่สุดท้ายทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้แก้ไขว่า ยังไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนลุกไปเข้าห้องน้ำกันแน่ แต่หลังกลับจากเข้าห้องน้ำแล้วนางสาวเนติพร และนางสาวทานตะวันมีการพูดคุยกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาวัดความดัน หลังจากนั้น 1- 2 นาที นางสาวเนติพร กระตุกหนึ่งถึงสองครั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบสัญญาณชีพ
นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลสับสนว่า นางสาวทานตะวัน เห็นเหตุการณ์ขณะนางสาวเนติพร กระตุกหรือไม่ น่าจะตอนแรกให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุขณะขณะนางสาวทานตะวันหลับอยู่ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้อย่างไร เมื่อมีคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำอยู่ ผอ.รพ.จึงให้ข้อมูลใหม่ว่าตะวันเองก็วัดความดันอยู่เช่นกัน ขณะที่บุ้งเกิดอาการกระตุก
ซึ่ง ผอ.รพ.อ้างว่า ได้ดูเพียงกล้องบันทึกภาพขณะเกิดเหตุการณ์เท่านั้น แต่ช่วงอื่นๆนั้นไม่ทราบ และไม่ได้ดูกล้องวงจรปิด จึงไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้ ทำให้ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ได้ตำหนิผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า ผอ.ยังสับสนในคำถาม และไม่เข้าใจและไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ แต่ผู้ตรวจฯยืนยันว่าได้ดำเนินการตามมาตรฐานการการกู้ชีพทั้งหมด เป็นไปตามจรรยาบรรณของแพทย์ พร้อมอ้างว่าเป็นข้อมูลที่ลึกเกินไป แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง
ด้านอาการของนางสาวทานตะวัน และแฟรงค์ที่ยังอยู่ในโรงพยาบาลนั้น อาการแข็งแรงดีและกลับมารับประทานอาหารตามปกติแล้ว แฟรงค์สามารถทานอาหารได้มากขึ้นและเดินได้ ส่วนนางสาวทานตะวัน ยังคงมีภาวะเครียดและอาการซึมเศร้า และกลับมารับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ส่งจิตแพทย์เข้าไปดูแลอย่างอย่างใกล้ชิดแล้ว
เมื่อสอบถามว่าทางกรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการในการป้องกันเหตุซ้ำรอยอีกหรือไม่ นายแพทย์สมภพ กล่าวว่า ราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่หากเกิดเหตุจนถึงแก่ชีวิตนั้นไม่มีแพทย์ที่ไหนจะยื้อชีวิตได้ แม้กระทั่งนางสาวเนติพรเองก็ทำนิติกรรมไว้แล้วล่วงหน้า เนื่องจากมีความมุ่งมั่นในอุดมการณ์และเราไม่สามารถแตะต้องอะไรได้ เราช่วยชีวิตได้ แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่
ส่วนการป้องกันนั้นได้พยายามส่งนักจิตวิทยาเข้าไปโน้มน้าวแล้วอย่างเต็มที่ แต่หากเขายืนยันจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เหตุการณ์ร่างกายทนไม่ไหวแล้ว ราชทัณฑ์ทำได้เต็มที่ก็คือส่งให้แพทย์รักษาเท่านั้น ส่วนการจะให้เปลี่ยนใจนั้นทำไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากร่างกายมาถึงจุดที่ไม่สามารถดูแลได้แล้วก็ยาก ต่อให้เป็นแพทย์เทวดาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้.
Advertisement