สุนทรภู่ กวีเอกของโลก เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิด ว่าท่านคือคนระยอง แท้ที่จริงแล้ว เกิดที่วังหลัง บางกอกน้้อย กรุงเทพมหานคร
วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันระลึกถึง “พระสุนทรโวหาร” หรือ “สุนทรภู่” ครูกวีของชาติ ท่านเกิดวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 มารดาของท่านเป็น “พระนม” ของพระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ท่านได้ประพันธ์วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย ผลงานของท่านยังถูกกล่าวขาน และบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาวรรณคดีภาษาไทย ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา เช่น นิราศสุพรรณ นิราศพระบาท บทขับเสภาขุนช้าง-ขุนแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “พระอภัยมณี” ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านจำนวนมาก รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นยอดวรรณคดีชิ้นเอกประเภทกลอนนิทาน ที่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์ ทั้งความไพเราะสนุกสนาน แฝงไปด้วยคติสอนใจที่ทันสมัยไม่เคยตกยุค
ทั้งนี้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า สุนทรภู่ เป็นคนจังหวัดระยอง เนื่องจากใน “นิราศเมืองแกลง” มีการระบุว่าท่านเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่นั่น เลยถูกเข้าใจตามกันมาว่าเป็นท่านเดินทางกลับบ้านเกิด แต่จริงๆ แล้ว ท่านถูกใช้ให้ไปหาบิดาที่ไปธุระราชการที่เมืองแกลง โดยมีความตอนหนึ่งในนิราศเมืองแกลงว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา” แต่แท้ที่จริงแล้ว สุนทรภู่เกิดที่กรุงเทพมหานคร ย่านวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ทุกวันนี้คือที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช บริเวณอาคารปิยมหาราชการุณย์ แถบสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่า เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ใน “นิราศสุพรรณ” ยังมีบทกลอนส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ สุนทรภู่ ผู้ที่เกิดและเติบโตที่ย่านวังหลัง บางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ท่านได้ร่ำเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว ปัจจุบัน คือ วัดศรีสุดาราม ดังนี้
๏ วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย ลืมภัก พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาศแคล้วแล้วหนอฯ
๏ เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเย่าเรือนแพ พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
ลำฦกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจฯ
๏ วัดปขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน
ทำสุรทสอนเสมียน สมุทน้อย
เดินรวางรวังเวียน หว่างวัด ปขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาดิห้างกลางสวนฯ
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในหนังสือ “สยามประเภท” ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่อ้างว่า เมื่อปี 2447 ได้พบกับ "นายพัด" บุตรชายของสุนทรภู่ ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 86 ปี โดยนายพัดเล่าว่า “...ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี...”
กวีเอกสุนทรภู่ ท่านได้บันทึกอดีตของกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านโคลงกลอนไว้มากมายให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน มีการจัดนิทรรศการ “วิถีชีวิตชาวบางกอกน้อย” เกี่ยวกับชีวิตของสุนทรภู่ ที่อาคารอนุรักษ์ 3 โดยจัดแสดงบ้านจำลองของสุนทรภู่ ให้ผู้เยี่ยมชมได้ย้อนอดีต ไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนบางกอกน้อย และแวะเวียนไปฟังความไพเราะของภาษา ผ่านการอ่านเสียงทำนองเสนาะวรรคทอง วรรณกรรมชิ้นเอก เรื่อง พระอภัยมณี กาพย์พระไชยสุริยา เพลงยาวถวายโอวาท และ นิราศสุพรรณ บทกลอนเหล่านี้ ล้วนสอดแทรกกลิ่นไอวันวานของชุมชนที่ผ่านมาหลายร้อยปี... เป็นเสมือนร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรแก่ผู้อ่านได้ทุกยุคสมัยเสมอมา
ปัจจุบัน ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็น “วันสุนทรภู่” ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกแด่ยอดมหากวีผู้นี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญด้านวรรณกรรมของเมืองไทย
Advertisement