ครบรอบ 27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 กับ 10 เรื่องที่ยังฝังใจคนไทย ต้องถอดเอามาเป็นบทเรียน ก่อนจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจซ้ำสอง
วิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย และขยายลุกลามเป็นวงกว้างไปถึงหลายประเทศในเอเชียและภูมิภาคอาเซียน จนเป็นวิกฤตทางการเงินในที่สุด
1.ทำไมถึงเรียกวิกฤติต้มยำกุ้ง
ต้มยำกุ้งเป็นอาหารไทยที่ต่างชาตินิยมและรู้จัก เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจึงใช้ชื่อ "ต้มยำกุ้ง" มาเรียกวิกฤตการเงินนี้ หรือในปี 2008 สหรัฐเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้คนก็เรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
2.สาเหตุหลักของ วิกฤตต้มยำกุ้ง
ไทยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2530-2539 นอกจากนี้ยังเจอเรื่อง ปัญหาหนี้ต่างประเทศ หนี้ล้นพ้นตัวเนื่องจากมีการกำหนดค่าเงินไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ แถมอัตราดอกเบี้ยในไทยแพงกว่าการกู้จากต่างประเทศ ทำให้หลายคนกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ต่อ มาลงทุนกิจการต่างๆ จนทำให้เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก รวมถึงปัญหานโยบายด้านการเงินของประเทศและสถาบันการเงิน และการถูกโจมตีค่าเงินจากกองทุนต่างชาติ
3.ฟองสบู่แตก
เมื่อหลายคนมองว่าเป็นยุคที่หาเงินง่าย กู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าเงิน ทำให้ช่วงปี 2530-2539 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเป็นอย่างมากทั้งที่ดิน ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารชุด ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และมีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก สินทรัพย์ต่างๆ ที่ทำออกมาก็ขายง่าย ขายง่ายก็กำไรดี กำไรดีก็ทำมาขายต่อในราคาที่สูงกว่าเดิม ภาวะที่สินค้าราคาแพงกว่าความเป็นจริงจึงเรียกกันว่า “ฟองสบู่” เมื่ออสังหาริมทรัพย์บูมมากๆ เกิดการซื้อขายใบจองบ้าน ที่ดิน อาคารชุด จนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ฝังตัวอยู่ในเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนจะแบกไม่ไหว กลายเป็นฟองสบู่แตก
4.ลอยตัวค่าเงินบาท
รัฐบาลไทยในยุคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 จากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทคงที่ 25 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนไปแตะสูงสุดในเดือน ม.ค. 2541 ที่ 56 บาท/ดอลลาร์
5.การโจมตีค่าเงินบาท
นายจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ เห็นจุดอ่อนเรื่องค่าเงินบาทไทย จึงอาศัยจังหวะนี้เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ทั้งการเงิน หุ้น และทำธุรกรรมการเงิน บริษัทของเขาได้ทำการชอร์ต (การทำกำไรจากขาลง) เงินบาทอย่างมหาศาล ผลคือเงินบาทที่ร่วงอยู่แล้วถูกซ้ำเติมให้ร่วงเข้าไปอีก และยังมีกองทุนอื่นๆ มาผสมโจมตีเงินบาทให้ร่วงไปอีก แบงก์ชาติพยายามสู้กลับ โดยพยุงค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ให้ได้ ด้วยการนำเงินดอลลาร์มาซื้อเงินบาทกลับคืน จนทำให้เงินในคลังจากเดิมมีเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์ สุดท้ายทนแบกไม่ไหวต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวไปในที่สุด
6.ไอเอ็มเอฟ เจ้าหนี้รายใหญ่ของประเทศไทย
หลังไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหลออก จนต้องหันไปพึ่งเงินกู้จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จำนวน 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยไทยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟ โดยมีการลงนามรับเงื่อนไขการกู้เงินเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ก่อนจะใช้หนี้ได้หมดในปี 2546 ก่อนครบกำหนดชำระถึง 2 ปี ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
7.ปิดธนาคาร สถาบันการเงิน สังเวยวิกฤติต้มยำกุ้ง
หลังการเจรจากู้เงินจากไอเอ็มเอฟ ทำให้รัฐต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ (มาตรการ 13 ตุลาคม 2540) เช่น ปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง การจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกปิดกิจการ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 58 แห่ง นอกจากนี้ยังมีธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งต้องล้มลงเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี ) ธนาคารศรีนคร ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารมหานคร ธนาคารแหลมทอง ธนาคารสหธนาคาร เนื่องจากมีปัญหาขาดสภาพคล่องและมีปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก ทำให้ผู้คนตกงานจำนวนมาก
8.วิกฤติต้มยำกุ้ง ลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย
"วิกฤตต้มยำกุ้ง" ลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย มีทั้งเกาหลีใต้ (Kimchi Crisis) ฟิลิปปินส์ (Adobo Crisis) อินโดนีเซีย (Gado Gado Crisis) และมาเลเซีย (Nasi Lemak Crisis) ตามมาติดๆ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ขอเข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF ขอเงินกู้ โดยยอมตัวเข้าผูกพันตามโครงการปฏิรูป ส่วนฟิลิปปินส์ แค่ขอคำปรึกษาจากไอเอ็มเอฟ สำหรับมาเลเซียเลือกไม่พึ่งพาไอเอ็มเอฟ แต่ใช้การควบคุมการไหลเข้าออกของทุน กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว เลยรอดตัวมาได้
9.วลีเด็ด “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”
"ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" หลายคนอาจจะเคยได้ยินวลีนี้ หรือแม้กระทั่งใช้คำนี้ในชีวิตจริงด้วยซ้ำ วลีนี้เป็นคำกล่าวของ นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อดีตเศรษฐีแสนล้านที่กลายเป็นคนที่มีหนี้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ความหมายคือเขาไม่ได้ต้องการจะหนีหนี้ แต่ต้องการตั้งหลัก เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ จนในที่สุดก็สามารถปลดหนี้ส่วนใหญ่ได้สำเร็จ
10.เปิดท้ายขายของ มรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน
วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้คนตกงานจำนวนมากโดยเฉพาะพนักงานบริษัทด้านการเงิน การลงทุน ธนาคาร ที่ครั้งหนึ่งพวกเขามีชีวิตที่หรูหรา มั่งคั่งเพราะเงินกู้มาง่าย แต่เมื่อเกิดฟองสบู่แตก วิกฤติการเงินครั้งใหญ่ทำให้พวกเขาตกงาน จนต้องขับรถนำสินทรัพย์ออกมาเร่ขายตามลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ต่างๆ จนเกิดเป็นคำว่า "เปิดท้ายขายของ" ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังใช้คำนี้กันอยู่
Advertisement