ในยุคที่สื่อดิจิทัลครองโลก ความรู้ยังคงถูกส่งผ่าน “หนังสือ” อย่างมั่นคง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนในวงการสำนักพิมพ์และคนรักการอ่าน นั่นคือ “หนังสือปลอม” ซึ่งไม่ได้เพียงแต่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังบ่อนทำลายโครงสร้างของความรู้และคุณค่าทางปัญญาอย่างเงียบๆ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ในยุคที่อีบุ๊ก (e-book) และสื่อดิจิทัลเฟื่องฟู เหตุใด "หนังสือ" ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์กลับยังคงถูก "ปลอม" และลอกเลียนแบบอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายอย่างเงียบๆ ผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าบางแห่ง ทำให้นักอ่านหลายคนตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณองอาจ จิระอร หรือที่รู้จักกันในวงการหนังสือว่า “พี่ฉ่ำ” ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาหนังสือปลอมที่กำลังลุกลามอยู่ในขณะนี้
หนังสือปลอมคือภัยเงียบของวงการหนังสือไทย
“พี่ฉ่ำ” ได้ตอบอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ว่า หนังสือปลอมไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่มันคือ “มะเร็ง” ที่ค่อยๆ กัดกินอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อะไรก็ตามที่เป็นของปลอมหรือของเลียนแบบ มันคือมะเร็งที่ค่อยๆ กินระบบเข้าไปเรื่อยๆ แม้แต่สำนักพิมพ์เองก็ไม่พ้น วันหนึ่งเราได้ต้นฉบับหนังสือดีๆ มา เรารู้เลยว่ามันจะขายดีแน่ เราตีพิมพ์ออกไป ภายในอาทิตย์เดียว หนังสือปลอมตามมาแล้ว
สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเฉพาะกับสำนักพิมพ์ใหญ่ แต่ยังลุกลามไปถึงร้านค้าเล็กๆ ทั่วประเทศ ที่อาจไม่มีระบบตรวจสอบเพียงพอ ขณะเดียวกัน “ผู้อ่าน” ก็ไม่มีทางรู้ว่ากำลังซื้อของปลอม เพราะทุกอย่างดูเหมือนของจริงไปหมด
หนังสือมันไม่มีวันหมดอายุ มันอยู่ในบ้าน อยู่ในห้องสมุดไปได้ตลอด แต่คนที่เสียหายคือผู้ผลิต ผู้ลงทุน และผู้สร้างเนื้อหา นี่ต่างหากคือเรื่องใหญ่ หนังสือเป็นเหมือนทรัพย์สินทางปัญญาที่คงอยู่ แต่การลอกเลียนกลับเป็นการทำลายรากฐานของคนทำงานเบื้องหลัง ทั้งนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ ทีมออกแบบ และผู้จัดพิมพ์
“สิ่งสุดท้ายที่เราคิดว่าจะมีคนปลอม คือ ‘หนังสือ’ แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว” --- คุณองอาจ จิระอร กล่าว
ถ้าหนังสือไม่มีคนอ่าน แล้วเขาจะปลอมทำไม?
คุณองอาจได้ให้ข้อมูลด้วยว่า ตอนนี้เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้อ่านที่เข้ามาร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา คนที่มาเดินงานมีอายุน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่มากขึ้น บางเล่มของสำนักพิมพ์เราทำยอดขายได้เป็นหลักแสน
ซึ่งถ้าคิดง่ายๆ ว่าพวกที่ทำหนังสือปลอม หากเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดแค่ 10% ก็ถือว่ามีความหมายมากแล้ว และที่สำคัญคือหนังสือมันไม่มีวันหมดอายุ คนปลอมหนังสือเขาสามารถเก็บหนังสือไว้ได้เรื่อยๆ
“หนังสือปลอม” ธุรกิจเร็ว กำไรแรง ต้นทุนที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
พี่ฉ่ำได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าหนังสือหนึ่งเล่มมีต้นทุนอยู่ที่ 100 บาท ค่าลิขสิทธิ์และการลงทุนต่างๆ ก็อาจกินไปเกือบครึ่งหนึ่ง ในขณะที่หนังสือปลอมกลับขายในราคาที่แทบไม่ต่างจากของจริง หรือลดลงแค่ราว 5 - 10% เท่านั้น เพราะต้นทุนเขาต่ำมาก ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ไม่ต้องเสียค่าออกแบบ ดีไซน์ หรือค่าจัดหน้าใดๆ เลย เขาจึงได้กำไรเยอะ
ผู้คิดธุรกิจนี้ถือว่า “เขาเก่ง” มันเป็นการลงทุนที่เขาเห็นความคุ้มค่า ปลอมหนังสือไม่ถูก ไม่ใช่การไม่ลงทุน เขาต้องมีเงิน เพราะการทำหนังสือ 1 เล่ม กระบวนการผลิตหนังสือใช้มูลค่าหลายแสน บาท แต่เขาตัดส่วนนี้ออกไป ยกตัวอย่างเช่น 300,000 บาท ตัดค่าลิขสิทธิ์ครึ่งหนึ่งคือ 150,000 บาท เขาตัดค่าลิขสิทธิ์ ตัดค่าแรงงานออกไป แค่นี้เขาก็คุ้มแล้ว และเขายังขายได้ราคาใกล้เคียงกับหนังสือจริงอีก
“หนังสือปลอมหนึ่งเล่มใช้เวลาทำ แค่ประมาณสัปดาห์เดียวก็ผลิตเสร็จ แต่สำหรับสำนักพิมพ์อย่างเรา การทำหนังสือเล่มหนึ่งอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยเฉพาะถ้าเป็นการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ต้องใช้เวลาทำการแปล ตรวจแก้ และจัดพิมพ์ ซึ่งกินเวลาเกือบปี” คุณองอาจ กล่าว
ในส่วนของผู้ผลิตหนังสือปลอมแค่ดูว่าเล่มไหนขายดี ก็หาหนังสือมาสแกนหรือก็อบปี้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตหนังสือปลอมได้เลย รวดเร็วและง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อ "โอกาส" สวนทาง "คำปรามาส" ทำไมการปลอมหนังสือยังคงเกิดขึ้น?
คุณองอาจได้ตอบข้อสงสัยนี้ว่า ในประเทศไทยตลาดสิ่งพิมพ์ยังคงมีมูลค่าใหญ่อย่างมาก เพราะอัตราการบริโภคสิ่งพิมพ์ของคนในประเทศมีความต้องการสูง จึงไม่แปลกที่การปลอมหนังสือจะยังคงมีความเป็นไปได้ การที่มีการปลอมขนาดนี้แสดงให้เห็นว่าในตลาดยังคงมีความต้องการซื้อหนังสือ
“หากมองจากมุมของผู้ปลอมหนังสือ พวกเขาจะไม่ลงทุนทำถ้าไม่มีผลกำไร คำถามคือถ้าการปลอมแปลงหนังสือไม่คุ้มค่าแล้วทำไมเขาถึงทำ เพราะการปลอมในปริมาณที่มากย่อมมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าและต่อเนื่อง” คุณองอาจ กล่าว
“หนังสือปลอม” ขายในราคาแทบไม่ต่างจากของจริง
ทั้งนี้พี่ฉ่ำได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจด้วยว่า ความน่ากลัวของหนังสือปลอมอยู่ตรงที่ราคามักจะไม่ถูกจนผิดสังเกต ทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่เอะใจ และเลือกซื้อโดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะดูจากภายนอกก็ไม่มีอะไรผิดปกติ คนปลอมหนังสือมองว่าหนังสือเป็นของปลอมที่ขายได้ และขายในราคาที่ใกล้เคียงกับของจริง ในขณะที่สินค้าปลอมอื่นๆ ราคาจะห่างกันมาก
“เขาไม่ได้ปลอมแค่หนังสือ แต่ปลอมองค์ความรู้ทั้งระบบ" - องอาจ จิระอร
การปลอมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าแฟชั่นยังเข้าใจได้ เพราะมันเกี่ยวกับกิเลส แต่หนังสือคือความรู้ คือการศึกษา แล้วเขาปลอมได้ยังไง หรือเขาปลอมมาทุกอย่างแล้ว
สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ คนที่ทำหนังสือปลอมบางรายมีทุน มีเทคโนโลยี มีระบบผลิตที่ดีพอจะปลอมหนังสือได้อย่างแนบเนียน เริ่มจากหนังสือภาษาอังกฤษ แล้วค่อยๆ ขยายมาสู่ภาษาไทย และอื่นๆ อีกในอนาคต จุดเริ่มต้นอาจเป็นเพียงการลองผิดลองถูก แต่เมื่อพบว่าขายได้ ก็กลายเป็นโมเดลธุรกิจแบบหนึ่งไปแล้ว
ยิ่งเมื่อต้นทุนต่ำกว่าของจริง แต่ราคาขายเกือบเท่าของจริง จึงเป็นเหตุผลของการปลอมหนังสือเพราะได้กำไรมหาศาล การปลอมหนังสือทำให้สำนักพิมพ์สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้จากการขายหนังสือจริง เมื่อผู้บริโภคซื้อหนังสือปลอมในราคาที่ถูกกว่าหรือใกล้เคียงกับหนังสือจริง
“สำนักพิมพ์ก็จะไม่สามารถขายหนังสือของตนเองได้ตามจำนวนที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ยอดขายที่ควรจะได้ตกลงไป สำนักพิมพ์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์จากการปลอมหนังสือจะสูญเสียโอกาสในการขายหนังสือ ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสำนักพิมพ์ลดลง”
ผู้บริโภคที่ซื้อหนังสือปลอมเท่ากับว่าไม่ได้ซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตรง ทั้งหมดนี้มันคือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่กระจายไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั่วประเทศ พอมารวมกันจึงทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
หลายคนจะมองว่าหนังสือไม่สามารถอยู่รอดได้ และบางคนคิดว่าในงานมหกรรมหนังสือเท่านั้นที่ยังมีคนซื้อหนังสือ แต่ความจริงแล้วการอ่านหนังสือในรูปแบบสิ่งพิมพ์ยังคงมีความสำคัญ แม้ว่าคนยุคใหม่จะมีโทรศัพท์และอีบุ๊ก แต่ยังมีคนรุ่นก่อนที่ยังรักและเก็บสะสมหนังสือ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ใช่น้อยๆ และมีจำนวนมากเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร
“ในฐานะสำนักพิมพ์เราจะยังคงทำงานอย่างหนัก ขณะเดียวกันจำนวนผู้คนที่มาร่วมงานสัปดาห์หนังสือนั้นยังคงมีอยู่มาก ซึ่งหมายความว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังคงสามารถอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตามสังคมกลับมองข้ามจุดนี้ไป ขณะที่ผู้ที่ปลอมหนังสือกลับเห็นถึงคุณค่าและโอกาสในตลาดนี้” คุณองอาจ กล่าวทิ้งท้าย
Advertisement