ตำรวจเตรียมขยายผลจับเครือข่ายเรียกรับส่วยรถบรรทุก เชื่อมีตัวใหญ่ใน กรมทางหลวง อึ้งเจอเงินหมุนเวียน 200 ล้าน จ่อส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 6 นาย
วันที่ 3 ก.ย. 67 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงผลการจับกุม ผู้ต้องหา ที่เรียกรับส่วยรถบรรทุก 3 ราย
คือ นายนพดล (สงวนนามสกุล) อายุ 57 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก กรมทางหลวง และ เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot check ซึ่งถูกจับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
นายอเนก (สงวนนามสกุล) อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้านครราชสีมา ถูกจับในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์
นายธงชัย (สงวนนามสกุล) หรือ บอย อายุ 38 ปี พลเรือนซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อคอยเคลียร์กับผู้ประกอบการรถบรรทุก ถูกจับกุมในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ
โดยผู้ต้องหาที่1-2 ถูกจับ ในฐานความผิด ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ส่วนผู้ต้องหาที่ 3 ถูกจับในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
สำหรับพฤติการณ์ของผู้ต้องหา เมื่อเดือนมิ.ย. 2566 นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร้องเรียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐสังกัด กรมทางหลวง มีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุกรายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม
ขณะเกิดเหตุมีการสืบสวนพบว่า นายนพดล เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจกรมทางหลวงและนายเอนก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกินได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ ปล่อยให้ผู้ประกอบการวิ่งรถน้ำหนักเกินบนท้องถนน โดยมีการรับเงินจากผู้ประกอบการโดยตรงก่อนโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีของนายนพดล
นอกจากนี้ยังมีนายธงชัย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเจ้าต่างๆ และส่งมอบให้กับนายนพดลผ่านบัญชีม้าชื่อนายประทิน ก่อนที่จะขยายผลและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้น 11 จุด ในพื้นที่ 7 จังหวัด ทั้งจ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยภูมิ จ.เพชรบูรณ์ จ.นครปฐม จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร
เจ้าหน้าที่ได้นำผู้ต้องหาทั้ง 3 รายเข้าตรวจค้นตามจุดต่างๆ ที่ต้องสงสัยว่าจะมีพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการกระทำความผิดภายในกรมทางหลวง รวมถึงด่านช่างน้ำหนักที่ผู้ต้องหาปฏิบัติงานอยู่รวม 11 จุด เบื้องต้นทราบว่ามีชุดเฉพาะกิจกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 ชุด และได้มีการตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2566 พบมีผู้เสียหายรวมกว่า 30 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท และ มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5 ล้านบาท
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. กล่าวว่า การแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้เกิดส่วยสติกเกอร์ขึ้นมา ซึ่งจากการแก้ไขปัญหาสั่งย้ายตำรวจ 40 นาย ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 6 นาย มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่หากเจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ก็จะส่งผลกระทบกับประชาชน และสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ
สำหรับเงินหมุนเวียนเวียน 200 ล้านบาท ภายใน 4 ปี หากขยายผลพบใครเกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีให้หมด นอกจากเงินผ่านบัญชียังพบว่า มีเงินสดจำนวนมากซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนได้ชัดเจน โดยคาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้ต้องหาเพิ่ม และเชื่อว่ามีตัวการใหญ่ในกรมทางหลวงอยู่เบื้องหลัง ยืนยันไม่มีมวยล้มต้มคนดู
ด้าน พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการ ปปป. กล่าวว่า เงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวน 200 ล้านบาท เป็นเพียงเงินขาเข้าบัญชีที่มาจากผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสานประมาณ 200 ราย ซึ่งโอนผ่านบัญชีม้าของนายประทิน ก่อนจะแปลงเป็นเงินสดออกจากบัญชี ซึ่งต้องขยายผลต่อว่ามีการส่งต่อไปให้ใครบ้าง อนนี้มีผู้เสียหายที่ให้ข้อมูลกับตำรวจแล้วประมาณ 50 บาท แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลเนื่องจากกังวลว่าจะถูกดำเนินคดี เพราะยินยอมจ่ายให้เจ้าหน้าที่เอง
ขณะที่ นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยอมรับว่าจากการตรวจสอบระบบ กรมทางหลวงในการช่างน้ำหนักรถบรรทุก มีความหละหลวมเป็นอย่างมากเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถตอบคำถามว่าจะมีมาตรการติดตามรถบรรทุกที่น้ำหนักเกินได้อย่างไร อีกทั้งชุดเฉพาะกิจ Spot check บางชุด ก็ไม่ได้มีการรายงานผลจับกุมผลการปฏิบัติการเป็นลักษณะของการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานกันเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางหลวง มีจำนวนน้อย ด่านช่าง1ด่าน มีเพียง เจ้าหน้าที่ทางหลวง 1 คน ที่เหลือเป็นเพียงลูกจ้างที่ปฏิบัติงานตามด่านช่างน้ำหนักเท่านั้น
Advertisement