ย้อนเส้นทางกว่าจะมาเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เตรียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2568 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกของอาเซียน, อันดับ 3 ของเอเชีย และประเทศที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้
ถือเป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ของประเทศไทย ของเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ถือเป็นการยกระดับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไปอีกขั้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติแรกในอาเซียนที่มี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 ที่จะถึงนี้
ย้อนไทม์ไลน์จุดเริ่มต้นเสนอร่างสมรสเท่าเทียม
ย้อนกลับไปในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ณ ขณะนั้น) ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรก โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดให้การสมรสเท่าเทียม เปลี่ยนจากชายหมั้นหญิงเป็นบุคคลผู้หมั้นและผู้รับหมั้น และเปลี่ยนอายุการสมรสจากอายุ 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ รวมถึงการแก้ไขเหตุแห่งการฟ้องหย่าให้ครอบคลุมและคุ้มครองถึงทุกเพศของการสมรสเท่าเทียม ในกรณีหญิงสมรสหญิงที่หย่าจากกันแล้วไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 310 วันเพื่อจดทะเบียนสมรสใหม่
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 67 กำหนดให้บรรดากฎหมายอื่นใด ประกาศหรือมติคณะรัฐมนตรีอื่นใด ที่มีคำว่าสามีภริยาหรือสามีหรือภริยาให้หมายถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่าจะขอผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในหลายประเด็นให้เกิดขึ้นในสังคม ที่กำลังพูดถึงความเท่าเทียมและการสมรสเท่าเทียมกลายอย่างกว้างขวางในตอนนั้น
ต่อมา 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยจากคำร้องของเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักหญิง-หญิง จากกรณียื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ โดยให้ความเห็นว่า “ตรวจสอบเอกสารแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการจดทะเบียนสมรส” ทั้งคู่จึงแต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ก่อนจะมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ ป.พ.พ. มาตรา 1448 จากศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ" โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้พรรคก้าวไกลเดินหน้าผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างสุดความสามารถ
ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ อภิปรายทั้งน้ำตา ทำไมถึงต้องมีสมรสเท่าเทียม
โดยวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอหลักการของร่างสมรสเท่าเทียมในการประชุมสภาฯ อีกครั้งหลังร่างถูกบรรจุในญัตติมาเป็นปี
"อยากฝากถึงผู้แทนราษฎรทุกท่านที่อยู่ในสภาแห่งนี้ ว่าสิ่งที่ธัญพูดเป็นเรื่องเรียบง่ายของมนุษย์ทุกคน ที่เราทุกคนในสังคมนั้นเข้าใจกันดีอยู่แล้ว การที่ชาย-หญิงทั่วไปตัดสินใจสร้างครอบครัวและจดทะเบียนสมรส ใช้ชีวิตร่วมกัน มีบทบาท หน้าที่ สิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการเป็นเรื่องทั่วไปเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกท่านในที่นี้เข้าใจกันดี แต่ในสิ่งที่เรียบง่ายนี้เอง กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ สิทธิในการประกอบตั้งครอบครัว ไม่สามารถจัดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นพวกเราไม่มีสิทธิ ไม่มีศักดิ์ศรี และไม่มีสวัสดิการ
กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นการเรียกร้องในสิ่งที่มากกว่าผู้อื่น แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBT เรากำลังบอกกับท่านว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวนี้พวกท่านพรากพวกเราไป และสิทธิในการตั้งครอบครัวนี้ เป็นสิทธิที่เราทุกคนต้องมีอยู่แล้ว
ในต่างประเทศมีการคุ้มครองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีการรับรองไว้ในพันธะกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยก็ได้เข้าไปเป็นภาคี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักการของสิทธิมนุษยชน รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ครั้งนี้ เปลี่ยนจากชาย-หญิง ให้เป็น บุคคล-บุคคล เป็นใจความสำคัญ เพราะนี่คือหลักการที่สอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ว่าการบัญญัติกฎหมายนั้น จะต้องคำนึงถึงเพศสภา เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ และตั้งแต่ 2544-2565 มีกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
เราอาจจะนึกไม่ออกว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง ในขณะที่พวกเขาจดทะเบียนสมรสกันไม่ได้ ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างมีเสรีภาพ ทุกคนก็จะคิดว่า LGBT ก็มีสิทธิเท่าเทียมแล้วนี่ เราจะไม่นึกถึงกฎหมายเมื่อวิกฤตในชีวิตยังไม่มาถึง (ร้องไห้) บางช่วงเวลาเป็นช่วงของการชี้เป็นชี้ตาย ในฐานะผู้แทนราษฎร ขออนุญาตอ้างอิงคำพูดของประชาชนที่เป็นปวงชนชาวไทยก็คือคุณพวงเพชร เหมคำ และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง คู่รักหญิงรักหญิงที่อยู่กันมานานถึง 13 ปี เขาได้พูดเอาไว้ว่า เรื่องกฎหมายมันอยู่ในวิกฤตชีวิตเมื่อเราต้องการมีทางออก เขาอยู่ด้วยกันใช้ชีวิตร่วมกัน แต่เมื่อเขาป่วยไข้และการเซ็นยินยอมกระทำการรักษานั้น ทำแทนกันไม่ได้ การทำประกันชีวิตก็ต้องระบุคนที่มีทะเบียนสมรส หรือคนที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเกี่ยวดองกัน ก็ไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถระบุผู้รับประโยชน์ได้ เวลาซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือการกู้ซื้อบ้านก็ไม่สามารถกระทำได้ และสิ่งหนึ่งที่คู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นกังวลมากก็คือการสร้างทรัพย์สินร่วมกัน สร้างเนื้อสร้างตัวร่วมกัน แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไป ทรัพย์สินที่หามาก็จะไม่ได้ตกไปสู่คนที่เขารักอย่างที่เขาต้องการ
รวมถึงด้านสวัสดิการสังคมจนถึงนโยบายองค์กรที่ทำงานครอบครัว คู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่เท่ากับคนอื่น เพราะบางองค์กรมีนโยบายด้านค่าเล่าเรียนบุตร นโยบายการสนับสนุนค่าพยาบาลคู่สมรส แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องของบุคคลมากกว่า รวมถึงสวัสดิการของรัฐด้วย
นี่คือสิ่งที่ไม่เท่าเทียม ธัญเข้าใจว่าเราวัดคุณค่าความรักไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่แก้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ นั่นหมายถึงว่ารัฐไทยไม่ได้ให้คุณค่าความรักของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ นี่คือการรอคอยเป็นกฎหมายที่คนรอคอยจำนวนมาก ที่วันนี้เขายังถูกพรากสิทธิขั้นพื้นฐานไป วันนี้ธัญก็อยากจะบอกว่าเราถึงเวลาที่การเมืองต้องก้าวหน้า ก้าวไกล เรายังมีกฎหมายในระยบสองเพศที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตในประเด็นของความหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ ที่ยังถูกเลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนในโลกใบนี้ ที่เราจะดำเนินชีวิตที่เราต้องการ
การสร้างครอบครัวของชายและหญิงทั่วไป ก็คือการสืบสายโลหิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบุตรแล้วก็มรดก แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สร้างครอบครัวด้วยสายสัมพันธ์ และนี่คือรักที่ไม่มีเงื่อนไข ธัญคิดว่าเราทุกคนเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะเข้าถึงปรัชญาของความรักได้อย่างไร ธัญคิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข
นี่คือช่วงเวลาสำคัญของพวกเราทุกคนผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ที่เราจะใช้อำนาจที่มาจากปวงชนชาวไทยที่เลือกทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ที่เรามานั่งเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขาอยู่ในสภา และช่วงเวลานี้เราสามารถใช้อำนาจที่เรามีอยู่ในมือกดโหวตให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านเข้าสู่วาระ 1 ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ธัญเข้าใจว่ารัฐมนตรีอาจจะมีความกังวล แต่เราสามารถทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ศึกษาอยู่แล้ว และกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากๆ จึงอยากฝากให้ทุกท่านพิจารณา"
แต่ทว่าหลังอภิปรายจบ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ 2562 ข้อ 118 ชะลอการลงมติ โดยระบุว่าจะขอนำร่างดังกล่าวไปศึกษาก่อน 60 วัน ก่อนส่งกลับคืนสภาฯ ที่ประชุมเห็นด้วยคะแนนเสียง 219 ต่อ 118 คะแนน งดออกเสียง 12 และไม่ลงคะแนน 1 การพิจารณาสมรสเท่าเทียมจึงล่าช้าออกไปอีก
ก่อนที่ 7 มิถุนายน 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพียงร่างเดียว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ ดันแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ติดเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) ในไทย
15 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับร่างสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 212 ต่อ 180 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง พร้อมกับมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยคะแนนเสียง 229 เสียง ต่อ 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านด้วยคะแนนเห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง โดยพรรคก้าวไกลได้เสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญได้แก่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์
20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา ตามรัฐธรรมนูญ60 ม.147 กำหนดว่า ถ้าอายุของสภาฯ สิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาฯ กฎหมายใดที่รัฐสภายังไม่เห็นชอบ จะถูกปัดตกไปทันที แต่ถ้า ครม.ชุดใหม่ในรัฐบาลใหม่ ร้องขอให้นำกฎหมายที่ค้างอยู่กลับมาพิจารณา ก็สามารถทำได้ภายใน 60 วัน นับจากวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
พรรคก้าวไกล สู้ไม่ถอยดันสมรสเท่าเทียม
หลังการเลือกตั้งปี 2566 วันที่ 9 สิงหาคม ที่มีการเปิดประชุมรัฐสภา พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ 9 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างสมรสเท่าเทียม ที่พรรคยังคงยึดมั่นต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้
21 ธันวาคม 2566 ที่ประชุม สส. มีลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 1 จากร่างสมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างของรัฐบาล, ร่างของพรรคก้าวไกล, ร่างของภาคประชาชน และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าสู่วาระที่ 2 เพื่อปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ
27 มีนาคม 2567 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติวาระ 3 ผ่านร่างสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนท่วมท้น เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง ผ่านร่างกฎหมายในส่วนของผู้แทนราษฎรและเตรียมไปต่อที่ชั้น สว.
สว.ห่วงสมรสเท่าเทียมทำลายสถาบันครอบครัว แต่ท้ายที่สุดก็ผ่านด่านหิน
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น ส.ส. และคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 69 มาตรา โดยพิจารณาเป็นรายมาตรา พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ได้ลุกขึ้นอภิปรายขอขอสงวนคำแปรญญัตติแทบทุกมาตรา โดยพยายามเปลี่ยนนิยามของคำ เช่น คำว่า คู่สมรส เปลี่ยนเป็นสามีภรรยาหรือคู่สมรส, คำว่า บุคคล เปลี่ยนเป็นชายและหญิง หรือผู้หมั้น ว่าตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการ และหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ การเอาคำว่า สามีภรรยา เพศชาย เพศหญิงออกไป และใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรส คู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจนมาแทนโดยอ้างว่า เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขแบบนี้ ตนถือว่า เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมไทย และอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันครอบครัวพังทลายลงเร็วขึ้น
“ถ้าถามว่า ครอบครัวประกอบด้วยใครบ้าง ถามเด็ก ถามใคร ถามผู้ใหญ่ ถามที่โรงเรียน ก็จะบอกว่าประกอบด้วยพ่อแม่ ลูก พ่อคือผู้ชายแม่คือผู้หญิงหรืออาจจะบอกว่า ประกอบด้วยสามีภรรยาและบุตร สามีคือผู้ชายภรรยาคือผู้หญิง บุตรก็ว่าไป คำพวกนี้ เขามีความหมาย และระบุเพศไว้ชัดเจนว่า เพศอะไร เพศกำเนิด ที่สำคัญคือคำว่า สามีภรรยา จะปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับนี้เป็นที่แรก เพราะเกิดจากการสมรส ถ้าเอาออกไปจะหายไปจากสารบบภาษาไทย จะสะเทือน ถึงสถาบันครอบครัว ไปถึงเรื่องเพศชาย เพศหญิง การแก้ไขตรงนี้ จะบานปลายต่อไปอีก เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ตนจึงบอกว่า การแก้กฎหมายแบบนี้ ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBTQ ขึ้นมาให้เท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชายเพศหญิงลงไปให้เข้ากับ LGBTQ จะทำให้ภาพเบลอไม่ชัด เพราะใช้คำว่าคู่สมรส คู่หมั้น ทำให้ผมมั่นใจว่า หากกฎหมายฉบับนี้ออกไป ทางกลุ่ม LGBTQ ก็จะไปเรียกร้องให้แก้ไขโครงสร้างทางสังคม องค์ประกอบของสถาบันครอบครัว ของแบบเรียน ของมหาดไทยต่างๆ เพื่อให้เข้าไปในกลุ่มของท่าน ทะเบียนสมรสก็ออกแบบใหม่อีกแล้ว ไม่มีผู้ชายชื่ออะไร ผู้หญิงชื่ออะไร มันก็แปลกๆ แล้วสังคม จะเป็นอย่างไรผมติดใจการแก้ไขกฎหมาย ทำไมกมธ.ถึงไม่เอะใจ ว่า กฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง การแก้ไขกฎหมายแบบนี้ได้ 10 เสีย 90 สังคมและสภาพครอบครัวถูกเซาะกร่อนทำลาย ถ้าไม่ตั้งใจก็ถือว่าดี แต่ถ้าตั้งใจก็ถือว่า แย่มาก ผมขอให้พอยังกลับตัวทัน และขอให้เพื่อนสมาชิกฟังผมอธิบายด้วยความรอบคอบก่อนที่จะลงมติ” พล.อ.วรพงษ์กล่าว
จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมอย่างหนัก แต่ท้ายที่สุด สว. ก็มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นี้ ในวาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง
กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ให้ไทยได้กลายเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เตรียมมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผล 22 ม.ค. 2568
ในที่สุดวังที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรอคอยก็มาถึง ช่วงค่ำของวันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย หญิง โดยให้บุคคลสองคนสามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยแก้ไขคำว่า ชาย และ หญิง เป็น บุคคล และเรียกคู่สามี-ภรรยา เป็น คู่สมรส นอกจากนี้ปรับอายุขั้นต่ำ การหมั้น สมรส จาก 17 ปี เป็น 18 ปี และคนไทยจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทยได้ รวมทั้งรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่า ทั้งนี้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
ประเทศใดในโลก มีการประกาศใช้สมรสเท่าเทียมบ้าง?
นับตั้งแต่ปี 2544 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายในปี 2543 และประกาศใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือน เมษายน 2544
ตามมาด้วยประเทศเบลเยียม ในปี 2546 และอีกหลายประเทศตามมา ได้แก่ สเปน, แคนาดา, แอฟริกาใต้, นอร์เวย์, สวีเดน, โปรตุเกส, ไอซ์แลนด์, อาร์เจนตินา, เดนมาร์ก, อุรุกวัย, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, บราซิล, สหราชอาณาจักร, ลักเซมเบิร์ก, สหรัฐอเมริกา, ไอร์แลนด์, โคลอมเบีย, ฟินแลนด์, มอลตา, เยอรมนี, ออสเตรเลีย, ไต้หวัน (ชาติแรกของเอเชีย), ออสเตรีย, เอกวาดอร์, คอสตาริกา, สวิตเซอร์แลนด์, ชิลี, สโลวีเนีย, เม็กซิโก, คิวบา, อันดอร์รา, เอสโตเนีย, กรีซ และ เนปาล ซึ่งเป็นชาติที่สองของเอเชีย ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา
จนมาถึงประเทศไทย เป็นประเทศที่ 38 ของโลก เป็นชาติแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียต่อจากไต้หวันและเนปาลที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีใช้ได้อย่างเป็นทางการใน 120 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2568 นั่นเอง
สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
1. เปลี่ยนคำนำหน้าจากชาย-หญิง เป็น บุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด นิยามตัวตนอย่างไร ให้สามารถสมรสกันได้
2. เปลี่ยนสามี-ภรรยา เป็น คู่สมรส เพื่อให้บทยาทและหน้าที่มีความเสมอภาค และใช้ครอบคลุมได้ทุกเพศ
3. แก้ไขอายุขั้นต่ำที่จะทำการสมรสได้ จากเดิม 17 เป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามหลักสากล
4. เปลี่ยนจากชายหมั้นหญิง เป็น ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น เพื่อให้ผู้หญิงสามารถหมั้นผู้ชายได้ ผู้ชายหมั้นผู้หญิงได้ รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถเป็นทั้งผู้หมั้นและผู้รับหมั้นได้เช่นกัน
กว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านและเตรียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า เชื่อว่าที่ผ่านมาสังคมได้เห็นถึงความพยายามผ่านคราบน้ำตาของ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล (ณ ขณะนั้น) ที่ต่อสู้แทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความเข้าใจ เปิดใจ และเห็นพ้องร่วมด้วยของรัฐบาล ภาคประชาชน และด่านหินอย่าง สว. จนทำให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นมาได้ในที่สุด
Advertisement