บทเรียนซ้ำซาก ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ พัฒนารูปแบบทำนาบนหลังคน เล่นกับความโลภ ขายฝันสวยหรู สุดท้ายเจ้าของรวยจริง เหยื่อเจ็บจริง ชีวิตทุกคนที่เกี่ยวข้องเจ๊งจริง ไม่มีเหลือ
ไม่ว่าจะผ่านมานานกี่ปี ข่าวของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ก็ยังคงตามกลับมาหลอกหลอนคนไทยอย่างไม่รู้จักจบสิ้น กลายเป็นบทเรียนซ้ำซาก ที่เปลี่ยนวิธีการใหม่ แต่ยังใช้จุดเดิมมาขยี้คือ การปลดแอกจากความจน ขายฝันสวยหรู การันตีผลตอบแทนสูงลิ่ว แต่สุดท้ายทุกอย่างปลิดปลิวสลายไปต่อหน้า บางคนสูญเสียเงินทอง บางคนสูญเสียครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด หรือบางคนต้องจบชีวิตหนีหนี้ และนี่คือธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ที่เป็นข่าวใหญ่โตระดับประเทศ
ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ.2525 นางชม้อย ทิพย์โส หรือที่รู้จักกันในนาม "แม่ชม้อย" ชาวจังหวัดสิงห์บุรี อดีตพนักงานองค์การเชื้อเพลิง ได้ชักชวนผู้คนนับหมื่นคนทั่วประเทศมาลงทุนทำธุรกิจด้วยกัน โดยอ้างว่าตนเองทำธุรกิจซื้อขายน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเงื่อนไขการลงทุนคือ จะต้องนำเงินไปซื้อน้ำมัน 1 คันรถบรรทุก เป็นจำนวนเงิน 160,800 บาท โดยให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อเดือน และสามารถถอนเงินต้นคืนได้ตลอดเวลา
ด้วยความที่เหยื่อได้รับเงินปันผลตรงเวลาทุกเดือน ถอนทุนคืนได้เพียงเวลาไม่นาน และยังได้กำไรดี ทำให้เกิดการพูดถึงกันแบบปากต่อปาก จนเกิดการเรียกการลงทุนนี้ว่า "แชร์แม่ชม้อย" ผู้คนจำนวนมากทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ต่างหลั่งไหลนำเงินเข้ามาลงทุนจนยอดเงินสะพัดหลายพันล้านบาท จนกระทั่งแชร์ไปต่อไม่ไหว เพราะหมุนเงินไม่ทัน ทำให้มีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีแม่ชม้อย ทั้งสิ้น 15,473 ราย รวมมูลค่าความเสียหายสูงถึง 4,822 ล้านบาท ก่อนจะถูกจับกุมในปี 2528
คดีแชร์แม่ชม้อย ใช้เวลาในการสืบพยานนานถึง 4 ปี จนกระทั่งวันที่ 27 ก.ค.2532 ศาลมีคำพิพากษาให้นางชม้อยและพวกรวม 10 คน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ให้จำคุก 117,595 ปี และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอีก 36,410 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี แต่ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชน
นางชม้อยรับกรรมจำคุกในทัณฑสถานหญิงเรือนจำลาดยาว เพียง 7 ปี 11 เดือนก็พ้นโทษก่อนกำหนดถึง 13 ปี เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากเป็นนักโทษชั้นดี และเมื่อเธอได้รับอิสรภาพก็ไม่ปรากฏตัวให้ผู้คนได้พบเจออีกเลย
เมื่อปี 2556 บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ได้ยื่นขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อการจำหน่ายเครื่องดื่ม 2 รายการ และเครื่องสำอาง 1 รายการ จากนั้นได้ทำการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยใช้ข้อความ เช่น ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องขายสินค้า ไม่ต้องรักษายอด ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง เป็นต้น
รูปแบบการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนมี 5 ระดับ หรือ 5 ตำแหน่ง เริ่มที่ 1 ดาว 500 ดอลลาร์ ไปจนถึงระดับ 5 ดาว 50,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยสูงสุดราว 1.7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังชักชวนบุคคลทั่วไปให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัทได้ 2 แบบ คือ แบบเน้นซื้อ U-TOKEN หรือสมัครแบบเน้นซื้อสินค้า
เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนแผนการลงทุน และการดำเนินธุรกิจพบว่า ยูฟันมุ่งเน้นการหาสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น พร้อมขายฝันว่าจะได้ผลตอบแทนสูง ทั้งเงินทอง รถยนต์ ฯลฯ ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการขายสินค้าแบบขายตรงตามที่ขอจดทะเบียน เและเมื่อตำรวจนำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่บริษัท ยูฟัน อ้างว่าทำสัญญาผลิตและซื้อขายสินค้า แต่การตรวจค้นพบว่าไม่ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง ไม่ได้มุ่งทำกำไรจากสินค้า เหมือนธุรกิจขายตรงทั่วไป ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า เน้นการหาสมาชิกมาลงทุน เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และยังสร้างแพลตฟอร์ม ใช้ “ยูโทเคน” แบ่งระดับสมาชิก จนมีผู้หลงเชื่อกว่า 2,400 คน
ในที่สุด ศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกแม่ข่ายกับพวกรวม 5 คน คนละ 20 ปี ยกฟ้อง 11 คน ส่วนจำเลยที่เหลือ สั่งชดใช้เงิน 356 ล้านบาท ให้กับผู้เสียหาย ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และ ปปง.ตามยึดทรัพย์ เพื่อทยอยคืนให้ผู้เสียหาย
ส่วนค่าเสียหายทางแพ่งที่ต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน รวม 356,211,209 บาท ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้คิดอัตราดอกเบี้ยใหม่ จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี ตามกฎหมายใหม่ และให้จำเลยบางส่วน ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน หากไม่ชดใช้ตามกำหนดจะเข้าสู่ขบวนการยึดทรัพย์
ประเทศไทยสั่นสะเทือนกับแชร์ลูกโซ่อีกครั้ง เมื่อตำรวจนำกำลังเข้าจับกุม น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือ เดียร์ หรือที่รู้จักกันในฉายา “แม่มณี” และนายเมธี ชิณภา อายุ 20 ปี สามีคาห้องพักใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมแจ้งข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบทางคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
สืบเนื่องจาก น.ส.วันทนีย์ หรือแม่มณีประกาศให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมออมเงินหรือร่วมลงทุน โดยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติเป็นพิเศษ โดยมีแผนการตลาดหรือรูปแบบการลงทุนจัดแบ่งออกเป็นวงจำนวนการลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาทต่อหนึ่งวง เมื่อครบกำหนด 9 เดือนนับ แต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่แจ้ง ผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงละ 1,930 บาท ก่อนที่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะสั้นอีกหลายระบบและหลายครั้ง
นอกจากนี้ แม่มณียังสร้างภาพ เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ จากเน็ตไอดอลธรรมดาที่ไลฟ์ขายตุ๊กตา กลายเป็นนักธุรกิจสาวที่ประสบความสำเร็จเพราะลงทุนในธุรกิจหลายอย่าง ทั้งสร้างภาพยนตร์ แบรนด์เครื่องสำอาง ผับ และร้านทอง จนผู้คนต่างหลงเชื่อว่าเธอคือความหวังที่จะมาช่วยเปลี่ยนชีวิตให้รวยไปตามๆ กัน จนหลายคนนำเงินมาลงทุนด้วย แต่ความจริงแล้วแม่มณีไม่ได้จัดให้มีการออมเงินหรือร่วมลงทุนโดยได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ออกอุบายให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเท่านั้น จนเกิดความเสียหายแก่จำนวน 2,533 ราย รวมทั้งสิ้น 1,376,215,359 บาท
ศาลพิพากษาว่า แม่มณีและสามีกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 2528 กระทง จำคุกกระทง ละ 5 ปี รวม 12,640 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 5,056 ปี 15,168 เดือน แต่กฎหมายคงจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี จึงจำคุกไว้คนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมดอกเบี้ย
สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการร้องเรียนว่ามีการชักชวนให้ลงทุน Forex-3D ผ่านทางเฟซบุ๊กชื่ของ นายอภิรักษ์ โกฎธิ โดยให้ลงทุนนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ (Forex) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60-80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการเทรดฟอเร็กซ์ และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100 ซึ่งมีผู้เสียหายจากการร่วมลงทุนจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีนายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวก รวม 4 คน ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีผู้เสียหายที่เข้าให้การรวมจำนวน 9,824 คน มูลค่าความเสียหาย 2,489 ล้านบาท (แต่ทั้งนี้คาดว่าแท้จริงแล้วมูลค่าความเสียหายอาจจะสูงถึง 40,000 ล้านบาท) และยังพบว่ามีดารา นักร้อง นักแสดง เข้าข่ายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่ทีม ผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่กับนายอภิรักษ์ หรือเป็นตัวการร่วมกับนายอภิรักษ์ ในการแบ่งหน้าที่กระทำความผิด
พนักงานอัยการได้ระบุไว้ว่า การโฆษณาชักชวนหลอกลวงประชาชนของจำเลยเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่ได้ประกอบกิจการซื้อขายหรือเทรดเงินตราต่างประเทศ (Forex) จริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่เคยมีการให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดเพื่อให้บริการลงทุนโดยเก็งกำไรจากการซื้อขายหรือเทรดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex) ในประเทศไทย โดยขณะนี้นายอภิรักษ์และพรรคพวกถุกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำเพื่อรอการตัดสิน
Advertisement