คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในเรื่องของ การรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media Literacy หัวข้อ "Digital media literacy movement: glocalising media literacy in cultural contexts and creating communities for building connections" การขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล โลกาเทศาภิวัตน์ การรู้เท่าทันสื่อในบริบททางวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจด้าน Media Literacy ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มการสื่อสารเปลี่ยนผ่านไปสู่สื่อดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media Literacy เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เท่าทันสื่อ แต่ "คน" ต้องมีความสามารถและมีความตระหนักรู้ เข้าใจสื่อในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการตื่นรู้ระดับบุคคล ไม่ใช่ระดับนโยบาย โดยได้เหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการทั้งในประเทศไทย ในระดับเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในบริบทของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานที่เข้มแข็งร่วมกันในอนาคต
บรรยากาศของการสัมมนาที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นการศึกษาการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งมีจุดสนใจที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบริบทของพื้นที่หรือขอบเขตที่นักวิชาการสนใจศึกษา การรู้เท่าทันสื่อมีความสำคัญในการเป็นวิธีการในการก้าวสู่สภาพสังคมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน รวมถึงการเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความรู้อื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ตลอดจนการเข้ามาของ AI ที่จะเข้ามีบทบาททั้งในโลกของข้อมูลข่าวสาร และการใช้ชีวิตของผู้คน
ศาสตราจารย์ Julian McDougall จาก Bournemouth University สหราชอาณาจักร กล่าวว่า การรู้เท่าทันสื่อไม่ใช่ solution ที่นำไปสู่ Ecosystem ที่ดี หรือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม แต่การรู้เท่าทันสื่อเป็นกระบวนการ คีย์เวิร์ดสำคัญในการที่จะช่วยให้กระบวนการนั้นเกิดขึ้นได้คือ "stop Over-Claiming" และ "under thinking"
ศาสตราจารย์ Alice Y. L. Lee จาก Hong Kong Baptist University ฮ่องกง ได้แลกเปลี่ยนถึงประเด็นการศึกษาการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งมีจุดสนใจที่แตกต่างกันไป ตามแต่ละบริบทของพื้นที่ หรือขอบเขตที่นักวิชาการสนใจศึกษา ทั้งนี้ การรู้เท่าทันสื่อมีความสำคัญสู่การเป็นวิธีการหนึ่งในการก้าวสู่สภาพสังคมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน การสร้าง smart city smart people รวมถึงการเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความรู้อื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การคำนึงถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ บทบาทของสื่อมวลชน บทบาทของพลเมือง ความแตกต่างของผู้คนในสังคม ตลอดจนการเข้ามาของ AI ที่จะมีบทบาททั้งในโลกของข้อมูลข่าวสาร และการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต
ทั้งนี้ ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยี ประกอบกับฮ่องกงมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็น smart city ในยุค AI ซึ่งบุคลากรทางการศึกษามีความรับผิดชอบต่อการแนะนำให้พลเมืองรุ่นใหม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยที่การรู้เท่าทันสื่อมีความสำคัญมาก และต้องผลักดันองค์ความรู้นี้ไปสู่ห้องเรียน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ผู้ปกครอง องค์กรศาสนา นักวิชาการ และภาคส่วนอื่น ๆ ดังนั้น แนวคิดเรื่องเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อในพื้นที่การศึกษาจึงสำคัญมาก อันจะนำไปสู่ Digital well-being ได้ในอนาคต
ศาสตราจารย์ Paul Mihailidis จาก Emerson College สหรัฐอเมริกา เผยว่า จุดเชื่อมต่อสำคัญสำหรับการสร้างการรู้เท่าทันสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม คือ การพัฒนาการรับรู้ของตนเองก่อนว่าอยู่ในจุดใด จากนั้นตั้งคำถามว่าใครบ้างที่จะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมการรู้เท่าทันสื่อร่วมกัน โดยคำนึงถึงอนาคตในการใช้สื่อเพื่อสังคม ให้ความสำคัญกับชุมชนเพื่อสำรวจว่าสามารถผสานความร่วมมืองระหว่างกันได้อย่างไร และท้ายที่สุดค้นหาข้อสรุปอีกครั้งว่า "เรา" ยืนอยู่ในจุดใด เพื่อเป้าหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เพื่ออนาคตของประชาธิปไตยที่ดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าสังคมเราหนี AI ไปไม่พ้น และคิดว่าสังคมเองกำลังทำความเข้าใจกับมันอยู่ และหน่วยงานต่าง ๆ มีการตั้งรับการเข้ามามีบทบาทของ AI จนถึงขั้นที่ว่ากำหนดเป็นแผนนโยบายองค์กร สำหรับวงการสื่อสารมวลชนเองก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบการทำงานของ AI ด้วยว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อไปก็คือการละเมิดลิขสิทธิ์ การละเมิดสิทธิ์ของบุคคลหรือไม่ สื่อเองก็ต้องรู้เท่าทัน AI และนำมาใช้ให้ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ไม่ได้มองว่า AI เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ทุกคนต้องรู้เท่าทัน AI และเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
อาจารย์ถมทอง ทองนอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความท้าทายของการสร้างการรู้เท่าทันสื่อในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของผู้คน การศึกษา การประกอบอาชีพ และการเมืองซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ มีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่สร้างผลกระทบ การรู้เท่าทันสื่อในยุค AI นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจ จากเดิมที่จุดสนใจของการรู้เท่าทันสื่อจะอยู่ที่เนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันต้องอาศัยในระดับระบบหรือโครงสร้างมากขึ้น นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับบริบทที่แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของผู้คน สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ ก็เป็นแนวทางสำคัญของการสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และการใช้เทคโนโลยี AI ในเชิงบวกได้
อีกประการหนึ่งข้อหนึ่ง คือทักษะการคิดของผู้คนในสังคมหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะการคิดเชิงวิพากษ์มีความสำคัญอย่างมากในการผลิตสื่อที่ดี อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันสื่อเพียงเพื่อแยกแยะว่าสื่อใดดีหรือไม่ดียังไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญในการทำงานด้านการรู้เท่าทันสื่อของไทย คือการชวนให้ผู้ผลิตสื่อย้อนกลับไปสู่หลักการพื้นฐานเรื่องผลกระทบของสื่อ คือทำอย่างไรให้การผลิตสื่อสามารถนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา
Advertisement