Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
โพลชี้คนไทย ทุ่มเงินฉลองสังสรรค์ อันดับ 1

โพลชี้คนไทย ทุ่มเงินฉลองสังสรรค์ อันดับ 1

24 ธ.ค. 67
17:14 น.
|
70
แชร์

"หอการค้า" เผย โพลชี้คนไทย ทุ่มเงินฉลองสังสรรค์ อันดับ 1 คาดปีใหม่สะพัด 1.09 แสนล้าน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจโพลพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 (ทั่วประเทศ) อยู่ที่ 109,313.78 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินสะพัดที่ 105,924.21 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2% การใช้จ่ายส่วนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จะเป็นการใช้จ่ายสำหรับตนเอง โดยจะอยู่ที่ 63.3% และใช้จ่ายทั้งตนเองและผู้อื่น 36.6%

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า การใช้จ่ายสำหรับตนเอง ในการวางแผนทำกิจกรรมช่วงปีใหม่ 2568 ภาพรวม 22.3% เลือกไปไหว้พระ ส่วนมากจะเป็น กลุ่มคนเจนเบบี้บูมเมอร์ส 24.0% และกลุ่มคนรุ่นใหม่เจนวาย 23.5% และประชาชนส่วนใหญ่เลือกซื้อของ 19.8% และสังสรรค์ 15.7% ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เจนแซด 17.4%

หากเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับตนเองในช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้ง ปี 2567 และ 2568 พบว่าการสังสรรค์จัดเลี้ยงยังคงครองอันดับต้นๆ ซึ่งในปี 2568 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 73.9% มากกว่าช่วงปี 2567 ที่ 71.3% ขณะที่การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2568 พบว่า การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เครื่องประดับ ทอง เพิ่มขึ้น 91.8% ไปดูหนัง เพิ่มขึ้น 61.5% พักผ่อนอยู่บ้าน เพิ่มขึ้น 54.0% การซื้อสินค้าคงทน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน เพิ่มขึ้น 47.8% การเลือกซื้อเสื้อผ้า รองเท้า เพิ่มขึ้น 44.8% เลือกไปสวนสนุกเพิ่มขึ้น44.4%

โพลชี้คนไทย ทุ่มเงินฉลองสังสรรค์ อันดับ 1

ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายที่ยังคงเท่าเดิมเหมือนตอนปี 2567 ได้แก่ การซื้อสุรา/ไวน์ 53.6% การทําบุญทางศาสนา 57.1% การสังสรรค์/จัดเลี้ยง 48.6% การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 67.3% และการช่วยเหลือผู้อื่น บริจาค 74.5% โดยแผนการใช้เงินเฉลี่ยต่อคน การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อยู่ที่ 15,863.02 บาท การซื้อสินค้าคงทน 5,092.89 บาท และการสังสรรค์/จัดเลี้ยง 3,866.50 บาท

นางเสาวณีย์กล่าวว่า ปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน จะมีผลต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 2568 หรือไม่ พบว่า 49.6% เชื่อว่ามีผล และอาจจะทำให้มีผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนลดลง 46.3% อย่างไรก็ตาม 50.4% เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงด้านค่าครองชีพไม่มีผลกับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568

นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ผลสำรวจ 53.8% ประชาชนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ไม่มีการวางแผนออกนอกพื้นที่ และ 40.2% มีการวางแผนออกนอกพื้นที่อาศัย

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2567 ถือว่าฟื้นตัวแต่ยังไม่ได้มีความมั่นใจสูงนัก ผู้คนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ปริมาณการใช้จ่ายของผู้คนถือว่าใกล้เคียงกับปี 2567 สิ่งที่เป็นตัวบั่นทอนความรู้สึกของประชาชนในการใช้จ่าย คือ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง 38.4% ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 10-15% เนื่องจากมองว่าอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น และส่งผลให้บั่นทอนกำลังซื้อ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องหารายได้ภาษีมาชดเชยอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน เพราะประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะดึงการลงทุนจากชาวต่างชาติเข้ามา ทำให้ภาษีรายได้นิติบุคคลลดลง ซึ่งเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ชาติประเทศไทยต้องการเศรษฐกิจโตที่ 4-5% เพื่อให้ประเทศไทยมีการเติบโตและเป็นประเทศที่พัฒนาในอีก 20 ปีข้างหน้า ช่วยให้ประเทศไทยไม่มีปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยอยู่แบบนี้ไม่ได้ หากรายได้จากภาษีไม่มาก และเศรษฐกิจโตต่ำ จะทำให้คนไทยมีภาระหนี้สินมากเกินไป การดูแลสวัสดิการของประชาชนจะหายไป ดังนั้นประเทศไทยต้องกระตุ้นปรับโครงสร้างภาษี เพื่อดึงการลงทุนจากต่างชาติ มาถ่ายทอดความรู้และลงทุน เพื่อตั้งเป้าให้เศรษฐกิจไทยโตไปถึง 4% ได้

นายธนวรรธน์เผยอีกว่า ผลสำรวจระบุประชาชนและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอยากให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2568 ดังนี้ 1.ดูแลการมีงานทํา/สร้างงาน อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น การสร้างรายได้ การ จัดทีมพัฒนาอาชีพและจัดสรรงานให้เหมาะสมกับบุคคลและสนับสนุนการสร้างรายได้สําหรับผู้สูงอายุ 2.แก้ปัญหาความยากจน กระจายรายได้สู่ภูมิภาคไม่กระจุกอยู่เฉพาะเมืองใหญ่ พัฒนาแรงงานให้ทั่วถึงและมีทักษะตามความต้องการของตลาด และลดค่าครองชีพให้เหมาะสมกับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือมีภาระต้องดูแลคนในครอบครัว 3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน/เงินกู้ ลดกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้เข้าถึงเงินลงทุนง่ายขึ้น ให้ทุนสําหรับการสร้างอาชีพเบื้องต้น และการให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้ให้กับทุกระดับ

4.การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อาทิ การรวมหนี้เพื่อลดดอกเบี้ย การลดภาระดอกเบี้ย 3 ปี การสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับกลุ่มฐานราก 5.แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยแนวทางจะต้องมีกฎหมายที่รุนแรง และเด็ดขาด มีการรับฟังปัญหาของผู้ที่ติดยาเสพติดเพื่อนำไปแก้ไขได้ถูกทางและสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน

Advertisement

แชร์
โพลชี้คนไทย ทุ่มเงินฉลองสังสรรค์ อันดับ 1